เมื่อใดที่ 'นกเงือกตัวผู้' หลงรักตัวเมียตัวใดแล้ว เขาจะคอยบินหาอาหารมาให้ตัวเมียตัวเดิมที่เขาตกหลุมรัก เขาจะทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา และหากนกเงือกตัวเมียรับอาหาร ตัวผู้จะถือว่า ตัวเมียตัวนี้ 'รับรัก' และจะเป็นรักแท้ของตนเอง จากวันนี้และเรื่อยไปจนแก่เฒ่า
แต่หากวันใด นกเงือกตัวใดตัวหนึ่งตายจากไป ตัวที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่จะไม่จับคู่กับตัวอื่นอีก และจะอยู่อย่างเดียวดายแบบนี้ไปตลอดชีวิต เพราะหัวใจทั้งดวงนั้น ได้ถูกส่งมอบให้กับนกเงือกตัวที่ตายจากไปไว้แล้ว
ซึ่งเป็นธรรมชาติของนกเงือกทุกสายพันธุ์ และมีอาศัยอยู่ในผืนป่าของประเทศไทยถึง 13 ชนิด ได้แก่ 1.นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง 2.นกเงือกหัวแรด 3.นกเงือกหัวหงอก 4.นกชนหิน 5.นกแก๊ก 6.นกเงือกดำ 7.นกเงือกคอแดง 8.นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว 9.นกเงือกสีน้ำตาล 10.นกเงือกปากดำ 11.นกเงือกปากย่น 12.นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ 13.นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
ศ.เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่ได้รับการยอมรับและขนานนามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็น “มารดาแห่งนกเงือก” ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก บอกว่า ปฏิทินของนกเงือก เริ่มต้นในห้วงเวลาเดียวกันกับที่คนไทยฉลองปีใหม่ คือในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ อันเป็นนิมิตหมายที่ผู้คนมักจะตั้งปณิธานว่าจะทำสิ่งที่ดีงาม ปรับเปลี่ยนตัวเองบางคนก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว นกเงือกก็เช่นกัน บางคู่ก็ประสบความสำเร็จ บางคู่ก็ล้มเหลว ลมหนาวและความแห้งแล้งกระตุ้นเตือนให้นกเงือกคู่ผัว-เมีย เสาะหารังหรือกลับไปที่รังเดิม นกเงือกตัวผู้จะเป็นผู้เสาะหาโพรงรัง ตัวเมียมักจะติดตามไปด้วย
ณ เวลานี้ นกเงือกคู่ผัวเมียเดิม หรือคู่ผัวเมียใหม่ หลังจากที่ตกลงปลงใจจะเป็นคู่รักกันไปตลอดชีวิต ก็จะพากันไปสำรวจหาโพรงรัง (ชมคลิป)
ก่อนเวลานี้ ใครติดตามเรื่องราว เรื่องเล่าของนกเงือก คงจะเห็นว่า เป็นเวลาที่นกเงือกพากันมารวมฝูงใหญ่ เสมือนว่าเข้าชุมชนมาเพื่อเจรจา บอกกล่าวเส้นทาง และแหล่งหาอาหาร รวมครอบครัว ใครมีสมาชิกใหม่ก็ได้มาพบปะรู้จักกัน ระแวงระวังภัยให้กันและกัน ซึ่งเป็นสังคมชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายกับชีวิตของคนอยู่เหมือนกัน
ดังนั้น ก่อนฤดูกาลจับคู่ใหม่ ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษานกเงือก และภาคีเครือข่ายร่วมอนุรักษ์นกเงือกในผืนป่าต่างๆ ซึ่งต้องทราบแล้วว่า ควรจะเร่งทำการซ่อมแซมโพรงรังให้นกเงือกบริเวณใดบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญต่อการขยายพันธุ์ก่อนที่นกเงือกจะเข้าโพรงรังวางไข่
(ในภาพ) เป็นการซ่อมแซมโพรงรังให้นกเงือกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นำทีมโดย กมล ปล้องใหม่ และ วิชัย กลิ่นไกล (หมีน้อย) นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากทีมเจ้าหน้าที่จากเขตฯ ห้วยขาแข้ง
กมล และ หมีน้อย ปีนต้นไม้เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุง โพรงรังมาไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแล้ว เขาทั้งสองเพียงแต่หวังว่า นกเงือกจะคงอยู่ได้ ออกลูกออกหลาน อยู่ในผืนป่า ทำหน้าที่ของนกเงือก คือ ช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ชนิด (นกเงือกช่วยปลูกป่า) ควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กในป่า เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในป่า รักษาทรัพยากรในประเทศไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไปในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง THAILAND HORNBILL
PROJECT , WWF-Thailand
เครดิตคลิป Abdulthaitube -อับดุลย์เอ๊ย ถามไรตอบได้!