ช้างป่าชราภาพ ในป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่เสมือนว่ากลายเป็นนางงามมิตรภาพ ระหว่างคนกับช้างป่าไปแล้ว หลังได้รับการดูแลจากคนจนสุขภาพดีขึ้น ชาวบ้านอาสาให้คำมั่น ว่าขอดูแล ทำทุกวันของยายให้มีความสุขจนสิ้นอายุขัย
จากกรณีช้างป่าชราภาพเพศเมีย เรียกชื่อว่า “พังยายเกตุ” อายุราว 60 ปี มีสภาพร่างกายไม่สามารถดำรงชีวิตในป่ากับฝูงได้ และออกมาขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน สถานการณ์ล่าสุด (29 ธันวาคม 2563) สุขภาพของยายเกตุดีขึ้น ฝ่ายชาวบ้านอาสาให้คำมั่นว่าจะขอดูแลจนสิ้นอายุขัย และทำทุกวันของยายให้มีความสุข
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน(หมอล็อต) และ ดร. โนชญ์ ชาญด้วยกิจ รายงานว่าตลอดระยะเวลานับเดือนที่ดูแล ตอนนี้ร่างกายดีขึ้น กินอาหารได้มากขึ้น ขับถ่ายเป็นก้อนละเอียดขึ้น ทั้งนี้ จากการตรวจสุขภาพโดยละเอียด พบตาข้างขวาบอดสนิท และหูตึง ซึ่งเปรียบเสมือนคนชรา ที่ต้องได้รับการดูแล
ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาช้างป่าอำเภอท่าตะเกียบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าอำเภอสนามชัยเขตและอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าดำเนินการติดตามอาการช้างป่าพังยายเกตุ พบว่าแผลปะทุที่ผิวหนังบริเวณขาหลังด้านซ้ายเป็นแผลสด เจ้าหน้าที่ให้อาหารเม็ดสำหรับช้าง เพื่อปรับสมดุลจุลชีพในลำไส้ให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น โดยใช้อาหารเม็ด ปริมาณ 0.5 กิโลกรัม ใส่ในกล้วยให้ช้างป่ากิน พบว่าช้างป่าจะเลือกกินกล้วยที่ไม่มีอาหารเม็ดปนก่อน จึงจะปรับวิธีการให้อาหารใหม่ โดยให้อาหารเม็ดก่อนเป็นอย่างแรกในตอนเช้าของทุกวันผสมกับกล้วย
พังยายเกตุสามารถกินอาหารได้ปกติ แต่จะเลือกกินมะละกอและขนุนที่สุกงอมเต็มที่ (อาหารที่ให้กินได้แก่ มะละกอ ขนุน กล้วย) สำหรับหยวกกล้วยจะหั่นทอนให้มีขนาดสั้นลง เนื่องจากถ้าขนาดยาวเกินไประบบย่อยอาหารของช้างป่าไม่สามารถย่อยได้ ทำให้มีปัญหาอุจจาระไม่เป็นก้อนๆ ลักษณะการก้าวเดินปกติ ไม่พบอาการเจ็บขา ก้าวเดินได้ช้าๆ การขับถ่าย อุจจาระยังคงสภาพของอาหารที่กินเข้าไปบ้างบางส่วน แต่อุจจาระเป็นก้อนมากขึ้น โดยภาพรวมย่อยได้ดีขึ้น
สภาพร่างกายโดยรวมดีขึ้น แต่อวัยวะสำคัญที่เคยมองเห็นก็สูญเสีย ลูกตาด้านขวาฝ่อและบอดสนิท ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 2.5/5 จากเดิม 1/5 (หมายเหตุ 1 = ผอมมาก 2 = น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน 3 = น้ำหนักมาตรฐาน 4 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน 5 = อ้วน) อาการโดยรวมทั่วไปดีขึ้น สามารถกินอาหารได้มากขึ้น การก้าวเดินปกติอุจจาระเป็นก้อนมากขึ้นและย่อยได้ดีขึ้นตามลำดับและไม่มีอาการหวาดระแวง หรือตกใจต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก
แนวทางการดูแลต่อไปในพื้นที่จนสิ้นอายุขัย คือ เรื่องอาหารและโภชนาการ โดยให้อาหารเม็ดสำหรับช้างป่าผสมกับกล้วย (ปรับมาให้เป็นมื้อเช้า ให้กินอาหารเม็ดได้จำนวนมากๆ ก่อน) เสริมแคลเซียมให้กิน ให้ยาบำรุงปลายประสาทต่อเนื่อง
นอกจากนั้นชาวบ้าน อาสา ทหารพราน และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้ร่วมกัน Big Cleaning พื้นที่ที่ยายเกตุอาศัยอยู่ ด้วยการทำความสะอาดเก็บเศษอาหาร อุจจาระ และปรับพื้นที่ข้างสระน้ำให้ยายเกตุสามารถลงไปกินน้ำได้อย่างปลอดภัย
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมชุดมวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้เข้าขอบคุณ ให้กำลังใจและมอบเสบียงอาหาร อุปกรณ์ป้องกันอากาศหนาวและค่าอาหารช้างป่า แก่เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าอำเภอสนามชัยเขต กำนันตำบลท่าตะเกียบ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านโปร่งเกตุ และเจ้าของสวนยาง ที่ได้ช่วยกันดูแลจนยายได้รับความปลอดภัยและสุขภาพดีขึ้น
กรณีช้างป่าพังยายเกตุ นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากในโลก สำหรับช้างป่าในวัยชราภาพที่ออกมาให้คนได้พบเห็นและขอการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ดีของการปรับตัว และเข้าใจ เห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างคนกับช้างป่า และยังเป็นผลสะท้อนจากการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ของหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคงแปลเป็นความหมายสั้นๆ ว่า "เมตตาธรรม เป็นเครื่องค้ำจุนโลก"
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ สมาคมอนุรักษ์กลุ่มป่าตะวันออก