เนื่องจาก เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์คุ้มครอง โดยสถานะการอนุรักษ์ในปัจจุบัน ยังมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (ลดลง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงกำหนดมาตรการในการดูแลพื้นที่วางไข่เต่ามะเฟืองไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ให้ลดการใช้เสียง แสงไฟ งดถ่ายภาพโดยใช้แฟลช และไม่ให้เข้าในเขตที่กั้นไว้
ขณะเดียวกันแสดงข้อมูลกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบในพื้นที่ (ตามภาพกราฟฟิก) สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://loveseaturtle.dmcr.go.th
หลังจากเมื่อวานนี้ (28 ธันวาคม 2563) ในช่วงเช้าพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ เพิ่ม 1 รังที่หาดบางขวัญ นับเป็นรังที่ 12 ของปี
ต่อมาในวันเดียวกันช่วงกลางคืน ลูกเต่ามะเฟืองรังที่ 2 ได้ฟักเป็นตัว และคลานขึ้นมาจากหลุมทราย สภาพโดยทั่วไปแข็งแรงดี จำนวน 47 ตัว จากนั้นได้นำไปปล่อยที่ชายหาด เพื่อให้ลูกเต่ามะเฟืองทยอยเดินลงทะเล ท่ามกลางความดีใจของสักขีพยานในพื้นที่กว่า 100 คน
กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่ 6 (พังงา) ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ หาดบางสัก หาดคึกคัก และหาดบนเกาะคอเขา จ.พังงา โดยจัดเวรเฝ้าระวัง ให้ข้อมูล องค์ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมชมในพื้นที่
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับเต่ามะเฟือง
จากการรายงานระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับเต่ามะเฟืองในปัจจุบันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ติดเครื่องมือประมงระหว่างการเดินทางมาวางไข่ และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น
ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล เช่น แสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย
การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง ว่า “องค์ความรู้ของทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ บ่งชัดว่าเราไม่สามารถเพาะเต่ามะเฟืองได้เพราะมันจะไปชนขอบสระจนทำให้ติดเชื้อและตายหมด เต่ามะเฟืองจำเป็นต้องอยู่ในที่เปิดอย่างในทะเล ดังนั้นวิธีที่จะดูแลเต่ามะเฟืองได้ดีที่สุด คือดูแลหลุมวางไข่ให้ดีๆ เมื่อบริเวณชายหาดที่เต่ามะเฟืองวางไข่ ถูกอนุรักษ์ มันจะโยงไปถึงเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ป่าสงวน มาตรการอะไรที่จะคุ้มครองพื้นที่ที่เต่ามันสามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้มันก็จะดีขึ้น โดยเรื่องของสัตว์ป่าสงวนจะนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีได้”
เต่ามะเฟือง อีกชื่อเรียกว่า เต่าเหลี่ยม เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ตัวเต็มวัยของเต่ามะเฟืองมีขนาดอยู่ที่ 150-200 เซนติเมตร มีน้ำหนักมากถึง 400-900 กิโลกรัม อาหารหลักของมันคือแมงกะพรุน ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนไม่ให้เยอะจนเกินไป
ปัจจุบันเต่ามะเฟืองอยู่ในสถานภาพเสี่ยงวิกฤติต่อการสูญพันธ์เนื่องจากภัยคุกคามต่างๆ ทางทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเต่ามะเฟืองจำนวนมากตายไปเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป