ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำการศึกษาและวิจัยพัฒนานวัตกรรมของโลก ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์มีความผูกพันใกล้ชิดมาช้านาน ตั้งแต่สัมพันธไมตรีของราชสำนัก การพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยก็ก้าวหน้าไม่แพ้กัน
เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเกียวโตแห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ “การศึกษาและการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในภาคพื้นเอเชีย” (The Kyoto University International Symposium 2020 on Education and Research in Global Environmental Studies in Asia) ผ่านโปรแกรมซูมประชุมทางไกล โดยมี ศ.นางาฮิโร มินาโตะ (Nagahiro Minato) อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกียวโต และ ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนา
การศึกษาและวิจัยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นนั้นจำเป็นต้องใช้พลวัตรในองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือกันในการดำเนินงาน เป็นที่น่ายินดีที่งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 381 คน จาก 71 มหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำจาก 18 ประเทศเข้าร่วมงาน ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อินเดีย จีน ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน แทนซาเนีย เวียดนาม และไทย เป็นต้น
ข้อสรุปความร่วมมือ จากการแบ่งปันประสบการณ์การสัมมนาของนักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ในการศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมโลกในภาคพื้นเอเซีย แบ่งเป็น 4 ด้านคือ
1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology) มุ่งประเด็นความร่วมมือในการบำบัดสารมลพิษและการนำทรัพยากรที่มีไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและเหมาะสม เช่น การสังเคราะห์แผ่นนาโนแบบลำดับขั้นที่ดัดแปลงด้วย Ga2O3 เพื่อการบำบัดสารมลพิษ การผลิตพลังงานจากกากตะกอนของน้ำเสียด้วย Anaerobic Co-Digestion การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีทีเหมาะสมกับประเทศในเอเชีย การใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อกิจกรรมทางการเกษตร
2. การเกษตรและชีวภาพ (Agriculture & Biology) ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการผลิตอาหารและพลังงาน นำเสนอเทคโนโลยีด้านการเกษตรและชีวภาพที่สะอาดและเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตภายใต้ข้อจำกัดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำฟาร์มเกษตร เช่น การใช้เทคโนโลยีไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตร การศึกษาการตอบสนองของพืชพืชจากการใช้ยาปราบศัตรูพืชต่อ Extracellular DNA and Secreted RNA การนำชีวมวลไปใช้ประโยชน์โดยเน้นไปที่การวิจัยด้านนาโนเซลลูโลสและนาโนไคติน
3. การวางแผนผังพัฒนาเมืองและชนบท (Urban & Rural Planning) มุ่งให้เกิดความน่าอยู่ ปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตและสอดคล้องเกื้อหนุนกัน ด้วยแนวทางงานวิจัยแบบจำลองต่างๆ ในการฟื้นฟูและพัฒนาชนบทสู่เป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น การประเมินการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่ในอินโดนิเซียด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและแบบจำลองการขยายตัวเชิงพื้นที่ การบรรเทาคลื่นความร้อนในเขตเมืองของประเทศกำลังพัฒนา การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา
4. นโยบายและเศรษฐกิจ (Policy & Economics) เน้นการใช้สหวิทยาการในด้านสิ่งแวดล้อม และการรับมือภัยพิบัติในแหล่งท่องเที่ยวภาคพื้นเอเซียอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแผนสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การประเมินทางนโยบายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษในอากาศ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจากการพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบท การใช้เทคโนโลยี IoT ราคาถูกเพื่อการตรวจติดตามคุณภาพน้ำในแม่น้ำ เป็นต้น
สำหรับแผนพัฒนาขยายความร่วมมือวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการวิจัยด้านสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัย
เกียวโต ไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของเอเซีย อาทิ Tsinghua University, University of Malaya โดยจะส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสารมลพิษต่างๆ ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในแหล่งน้ำ ในดิน และในอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและก่อผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ได้แก่ การวิจัยประโยชน์ต่อสุขภาพจากนโยบายการลดปริมาณ PM 2.5 สำหรับการขนส่งทางบกในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล, การวิจัยการกระจายตัวของของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในบริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา, การวิจัยการตกค้างของยาปฏิชีวนะและการเกิดเชื้ออีโคไล (E.Coli) ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในโรงบำบัดน้ำเสียและโรงปรับปรุงคุณภาพสิ่งปฏิกูลในเขตกรุงเทพฯ และการวิจัยการตกค้างและวิธีการบำบัดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานกลุ่ม PFAS (PFOS และ PFOA) ภัยเงียบที่พบการตกค้างในน้ำดื่มทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคม
การประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยได้ใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 ในประเทศไทย (Post COVID-19 Countermeasures in Education and Research) มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ Moving Teaching Online - Kyoto University’s Response to COVID-19 โดย ศ.ฮาจิเมะ คิตะ (Hajime Kita), ความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดการโควิด-19 ในหัวข้อ โควิด19 :ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทางการแพทย์และการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (COVID-19 : Catalyst of the Change in Medical Education and Technological Development) โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ในอดีต เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ถูกจำกัด หากนักศึกษาแพทย์ต้องการศึกษาจะต้องศึกษาในสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารและการแพทย์ทางไกลทั่วโลกต่างให้การยอมรับ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และนำมาใช้ร่วมกับการศึกษา โดยนักศึกษาแพทย์สามารถเข้าร่วมชั้นเรียนได้ทั้ง แบบ Synchronous and Asynchronousได้ทั้งแบบออนไลน์และแบบออนดีมานด์ มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจบางอย่าง เช่น Interactive Multimedia, Interactive Video ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์และกองสารสนเทศปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์การเรียนรู้ จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้าง "Adaptive Learning" ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพยกระดับการศึกษาทางการแพทย์ของประเทศไทยสู่ระดับโลก
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนจะร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมโยงการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพหรือข้อมูลการศึกษา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำการตั้งค่าอัลกอริทึมของข้อมูลและการประยุกต์ใช้ทางเทคนิค AI ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะร่วมพัฒนาชีวิตวิถีใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ดังนั้น การระบาดของ COVID-19 จึงเป็นตัวเร่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทางการแพทย์และเทคโนโลยีของโลก
เรื่องโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล