ปตท.สผ.ร่วมกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านปากน้ำแพรกเมืองและบ้านพังเค็ม และหน่วยงานในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา ร่วมกันเปิดศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากน้ำแพรกเมือง และศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มพังเค็ม ส่งเสริมการทำประมงเชิงอนุรักษ์ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล และสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าขยายเครือข่ายฯ และศูนย์การเรียนรู้ฯ ครบทั้ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทยภายในปี 2567 ที่ผ่านมาปล่อยลูกปูคืนสู่ทะเลกว่า 2,000 ล้านตัว ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี
นายปิยะ สุขุมภาณุเมศร์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กรและกำกับดูแล บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะปู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จึงจัดทำ “โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู” ตั้งแต่ปี ปี 2556 โดยศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากน้ำแพรกเมือง และศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มพังเค็ม ที่เปิดใหม่ทั้งสองแห่งนี้ เป็นศูนย์ที่ 4 และ 5 จากที่ได้มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ มาแล้วในจังหวัดสงขลาและปัตตานี
ที่ผ่านมาศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูที่ได้จัดตั้งขึ้น สามารถเพาะฟักลูกปูและปล่อยคืนสู่ทะเลได้กว่า 2,000 ล้านตัว ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำให้กับทะเล และทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี รวมทั้งสามารถขยายเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพิ่มเป็น 34 เครือข่าย โดยมีสมาชิกประมาณ 1,600 คน ซึ่ง ปตท.สผ. รู้สึกยินดีที่มีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและวิถีประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแนวทางของบริษัทในการเสริมสร้างทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมชุมชนให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากการเพาะฟักลูกปูแล้ว ปตท.สผ. ยังสนับสนุนการขยายผลไปสู่การเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ปลา กุ้ง หอย ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย โดยมีเป้าหมายขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ และสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทยภายในปี 2567
นายสันติ นิยมเดชา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ปูม้าชายฝั่งปากน้ำแพรกเมือง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรมีน้อยลง แต่เครื่องมือทำประมงมีจำนวนมาก ไม่สมดุลกัน จึงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อให้ลูกหลานสามารถทำอาชีพประมงได้ต่อไป อาชีพประมงก็จะมั่นคง ครอบครัวมีความสุข อยู่ได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายยงยุทธ รอดบุญมี ประธานกลุ่มศูนย์เพาะฟักลูกปูม้าบ้านพังเค็ม อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทะเลคือชีวิต คือแหล่งทำมาหากินของชาวประมง ถ้าออกเรือจับสัตว์น้ำทุกวันแต่ไม่อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเลย ในวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านั้นก็จะหมดลง ดังนั้น ต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรตั้งแต่วันนี้เพื่อให้สัตว์น้ำมีอยู่ตลอดไป ถ้าทะเลสมบูรณ์ ลูกหลานก็สามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้ และคนในชุมชนจะพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู เป็นโครงการที่ ปตท.สผ. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 โดยร่วมมือกับกลุ่ม ป.ทรัพย์อนันต์ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (NICA) สถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มบ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นแห่งแรก เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการเพาะฟักลูกปู สามารถสร้างเครือข่ายฯ และขยายผลจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มพังสาย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ล่าสุดคือ ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากน้ำแพรกเมือง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มพังเค็ม อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา