xs
xsm
sm
md
lg

6 ปี การเดินทางของทำเนียบหุ้น ESG100 บริษัทจดทะเบียน-ผู้ลงทุนได้ประโยชน์อะไร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ.2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนสำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมทั้งเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณภาพ และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ปัจจุบัน หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้ โดยเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้ขยายไปครอบคลุมการประเมินหลักทรัพย์ประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) เพิ่มเติม และในปีพ.ศ.2563 ได้ริเริ่มการประเมินและจัดทำรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging หรือ บริษัทที่มีแนวโน้มการดำเนินงานด้าน ESG ที่น่าสนใจ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุนจากปัจจัย ESG ดังกล่าว

ในบทความนี้ จะมาติดตามกันว่า ทำเนียบหุ้น ESG100 ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำต่อเนื่องในรอบระยะเวลา 6 ปี มีพัฒนาการที่น่าสนใจอะไรบ้าง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อแวดวงตลาดทุนทั้งในฝั่งของบริษัทจดทะเบียนและฝั่งของผู้ลงทุนอย่างไร


๐ หกปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างในทำเนียบหุ้น ESG100

เรื่องแรกเลย คือจำนวนหลักทรัพย์นำเข้าที่ใช้ประเมิน จากปีแรก (พ.ศ.2558) มีอยู่ 567 หลักทรัพย์ ปีล่าสุด (พ.ศ.2563) เพิ่มเป็น 803 หลักทรัพย์ ตามจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนใหม่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ฉะนั้นหลักทรัพย์ที่จะเข้ามาในทำเนียบ ESG100 ซึ่งจำกัดที่ 100 หลักทรัพย์ จะต้องหินขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 ต่อ 5 กว่าๆ ในปีแรก มาเป็น 1 ต่อ 8 ในปีนี้

ในส่วนของเกณฑ์การประเมิน ได้มีการปรับใหญ่อยู่ครั้งเดียว ระหว่างปีแรกกับปีที่สอง โดยในปีแรก การประเมินมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในมิติเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ในปีที่สอง จึงได้มีการปรับเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท เป็นการปรับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

หลังจากปีที่สองเป็นต้นมา ก็ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงินมาตลอด

ในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนีอีเอสจีแรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ เพื่อให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงราคาของแต่ละหลักทรัพย์ในดัชนีได้อย่างชัดเจน โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และด้วยการขจัดปัจจัยในเรื่องขนาดหรือความใหญ่ของหลักทรัพย์ จะทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และทำให้โอกาสที่หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ต่อมาในปี พ.ศ.2562 เห็นว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) มีความน่าสนใจและเริ่มมีข้อมูลที่ใช้ในการประเมินได้ จึงได้ขยายไปครอบคลุมการประเมินหลักทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวนี้เพิ่มเติม


ล่าสุด ในปี พ.ศ.2563 เนื่องจากกระแสเรื่อง ESG เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนในวงกว้าง มีการเสนอขายกองทุนที่ลงในหุ้น ESG เพิ่มขึ้นมาก จึงมีแนวโน้มที่การเลือกหุ้น ESG จะกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG อยู่แล้ว ซึ่งมักเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูล สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้ริเริ่มจัดทำรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging หรือบริษัทที่มีแนวโน้มการดำเนินงานด้าน ESG ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมจากทำเนียบหุ้น ESG100 สำหรับรองรับการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุนกระจายไปยังบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพจากการพิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับผลประกอบการของบริษัท ซึ่งในปีแรกนี้ ผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในกลุ่มบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG Emerging List ประกอบด้วย 2S, BAM, BIZ, BOL, CRC, FPT, GFPT, HARN, INSET, KIAT, PDG, PHOL, STGT, TFFIF, TFG, TNH, TNP, TPAC, UTP, VIH รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 หลักทรัพย์

สำหรับองค์ประกอบที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ากลุ่ม ESG Emerging ได้แก่
•มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ในรอบปีการประเมิน
•มีการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจแกนหลัก (Core Business) หรือกระบวนงานทางธุรกิจ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มเติมจากเดิม ในรอบปีการประเมิน
•มีความริเริ่มด้าน ESG หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ และมีความสืบเนื่องต่อไปจากรอบปีการประเมินปัจจุบัน

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่จะเข้าอยู่ใน ESG Emerging List ยังคงต้องผ่านคุณสมบัติตามเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งประกอบด้วย

☐ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด
☐การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน
☐การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

๐ แล้วหุ้นยั่งยืนในทำเนียบ ESG100 แตกต่างจากหุ้นยั่งยืนในรายชื่อ THSI อย่างไร

มีความแตกต่างหลักอยู่สองเรื่อง โดยเรื่องแรก เป็นจำนวนหลักทรัพย์นำเข้าที่ใช้ในการประเมิน ในส่วนของ ESG100 ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะทั้งในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) รายงานประจำปี (56-2) และในรายงานความยั่งยืนหรือรายงานในชื่ออื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งสามารถประเมินได้ครอบคลุมทุกบริษัททั้งในตลาด SET และ mai (683 บริษัท ในปี 2561) ขณะที่ในส่วนของ THSI ใช้ข้อมูลจากบริษัทที่สมัครเข้าร่วมการประเมินและตอบแบบประเมินความยั่งยืน (114 บริษัท ในปี 2561) ทำให้ประชากร หรือ Population ที่ใช้ตั้งต้นในการประเมิน จึงต่างกัน

เรื่องที่สอง หลังจากได้รายชื่อหุ้นยั่งยืนแล้ว การจัดทำดัชนี Thaipat ESG คัดเลือกจากหุ้นในทำเนียบ ESG100 ที่เป็นได้ทั้งหลักทรัพย์จาก SET และ mai ขณะที่การจัดทำดัชนี SET THSI คัดเลือกจากรายชื่อ THSI เฉพาะหลักทรัพย์จาก SET (ไม่รวม บจ. mai เนื่องจากเป็นดัชนี SET Index Series)

โดยที่ดัชนี Thaipat ESG ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weight) ขณะที่ดัชนี SET THSI ใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight)

๐ บริษัทจดทะเบียน ได้ประโยชน์อะไรจากการประเมิน ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์

การประเมิน ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางที่บริษัทเผยแพร่เป็นปกติ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่บริษัทในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประเมินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้บริษัทพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะ ในรูปแบบรายงานความยั่งยืน หรือในแบบ 56-1 เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์และเพียงพอต่อการประเมิน ESG100 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ดังกล่าวด้วย

ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการประเมิน ESG100 คือ การที่บริษัทได้ทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ในปัจจุบันของกิจการ โดยใช้ชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการประเมินอย่างอิสระโดยหน่วยงานภายนอก ด้วยเกณฑ์และหลักการที่อ้างอิงตามแนวทางการประเมินและมาตรฐานการรายงานสากล อาทิ WFE, GRI, SASB, UN PRI

และเนื่องจากการประเมิน ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ คำนึงถึงประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม นอกเหนือจากประเด็น ESG พื้นฐานที่สำคัญ อีกทั้งยังต้องสามารถสะท้อนอยู่ในผลประกอบการที่เป็นธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของแต่ละองค์กรด้วย ทำให้บริษัทสามารถนำผลการประเมินในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึก ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะองค์กร (Company-specific) และบริบทเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-specific) ตามกรอบและมาตรฐานที่เป็นสากล

๐ ผู้ลงทุนได้ใช้ประโยชน์จากทำเนียบหุ้น ESG100 หรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบัน ผู้ลงทุนสถาบัน มีความต้องการใช้ข้อมูล ESG ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน โดยจากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ (ESG Integration) มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559

สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

ในประเทศไทย มีกองทุนรวมอยู่ 6 กอง และกองทุนส่วนบุคคล 1 กอง ที่มีการใช้ดัชนี Thaipat ESG เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ราว 838 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2563)

ทั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบันหลายแห่ง ได้ใช้ทำเนียบหุ้น ESG100 เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code) ด้วย