xs
xsm
sm
md
lg

‘สามพรานโมเดล’ ต้นแบบวิถีเกษตรอินทรีย์! เปิดทริปแรกชมเส้นทางโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม -เศรษฐกิจหมุนเวียน-พึ่งพาตนเอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แปลงสาธิต...ปลูกผักสวนครัว ในหมู่บ้านปฐม สวนสามพราน
เส้นทางสวนสามพราน-คลองบางแก้ว เป็นทริปแรกหลังคลายล็อกโควิด-19 ที่สามพรานโมเดล ตอกย้ำแนวทางการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยชุดองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งทุกวันนี้ที่นี่เป็นต้นแบบให้ศึกษาว่า โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมที่ยั่งยืน เขาทำกันอย่างไรถึงประสบผลสำเร็จ

กิจกรรมเรียนรู้-ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ของสามพรานโมเดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่เช้าจรดเย็น (เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา) เปิดเส้นทาง “สวนสามพราน-คลองบางแก้ว” เข้าชมบทสรุปของสามพรานโมเดลซึ่งเป็นวิถีอินทรีย์ที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นวิถีอินทรีย์ที่มีการเชื่อมโยง ห่วงโซ่คุณค่าของโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ระหว่างสวนสามพรานกับเกษตรกรที่เป็นพันธมิตร

ได้เห็นความเชื่อมโยงในการทำเกษตรอินทรีย์ กับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากพื้นที่ภายในสวนสามพรานที่สามารถจบขยะอินทรีย์ทั้งหมดเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste

พอช่วงบ่ายพาเดินทางไปเห็นของจริงที่ไร่อาปื๊ดกะโอปอ ต.คลองบางแก้ว หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายสามพรานโมเดล อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งได้เห็นว่าแปลงอินทรีย์มีการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไปโดยปริยาย เช่น เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไก่ ก็เอามูลไก่ มูลเป็ดมาทำปุ๋ย ได้ เช่นเดียวกับขยะอาหารจากครัวเรือน นำไปทำปุ๋ย แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในแปลงปลูกพืชต่อ ทำให้เกษตรกรลดต้นทุน พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ครอบครัวคุณนิรัญ (ปื๊ด) และ คุณสุนันท์ (ปอ) จันทร์ไทย สองสามีภรรยา เจ้าของไร่อาปื๊ดกะโอปออามีวิถีชีวิตกินดีมีสุขแทบไม่ต้องใช้เงิน

อรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพราน และผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล เล่าให้ฟังว่าตอนนี้สามพรานโมเดลพร้อมแล้วที่จะเปิดชุดความรู้ เปิดพื้นที่ และเปิดบทเรียนจากประสบการณ์การขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปเข้ามาสัมผัส และนำประสบการณ์ไปใช้ได้กับชีวิต โดยเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบการท่องเที่ยว-เรียนรู้วิถีอินทรีย์หลากหลาย โดยมีเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายเกือบ 200 ครอบครัว ทั้งในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เชียงราย อำนาจเจริญ พิษณุโลก ฯลฯ ให้เลือกไปร่วมเรียนรู้ได้ตลอดทั้งปี

อรุษ นวราช
“การเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์นั้นถือว่าเป็นภาคต่อของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล หรือโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่สะท้อนการเป็นพันธมิตรระยะยาว ระหว่างสวนสามพรานและเกษตรกรอินทรีย์ ในวันนี้กำลังก้าวสู่การยกระดับ ให้เกษตรกรอินทรีย์ก้าวไปอีกขั้น จากผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ สู่การท่องเที่ยว”

ปัจจุบันการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์กำลังเป็นเทรนด์ที่ต้องการของคนยุคนี้ พวกเขาอยากกินอาหารพืชผักอินทรีย์ที่มั่นใจถึงคุณประโยชน์และความปลอดภัยจากสารเคมี นอกจากต้องการได้สุขภาพที่ดีจากอาหารการกิน เขาก็อยากปลูกเป็น ทำได้เอง ที่นี่เขาสามารถพาทั้งครอบครัวเข้ามาสัมผัส ได้พบกับตัวจริงเสียงจริงของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากแทบไม่มีโอกาสเห็นว่าเกษตรอินทรีย์เขาผลิตอย่างไร ที่นี่ทำให้เขาเรียนรู้และลองทำเป็นประสบการณ์ได้ เช่นเดียวกับองค์กร หน่วยงานหลายแห่งที่อยากทำซีเอสอาร์แบบยั่งยืน สามารถเข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจเกื้อกูลสังคม

“ตัวผมพร้อมทีมงานการตลาดและการขายของสวนสามพราน ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมายาวนาน และทีมสามพรานโมเดล ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรอินทรีย์มานานนับสิบปี ยินดีที่จะเป็นผู้ร่วมกันทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรอินทรีย์ ทั้งการจัดเตรียมพื้นที่ จัดระบบการเล่าเรื่อง อาหาร คน และออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ ที่สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจและสร้างความจดจำที่ดี ให้กับผู้มาเยือน”

ฐานผลิตไบโอแกส จากขยะอาหาร ในหมู่บ้านปฐม สวนสามพราน

ได้ศึกษาวงจรชีวิตของไส้เดือน ในหมู่บ้านปฐม

ฐานสาธิตการทำน้ำสมสายชูจากกล้วย
กว่าจะมาเป็นกระบวนการพึ่งพาตนเองของสวนสามพรานได้ อรุษ บอกว่า เราต้องทำให้พนักงานของเรามองเห็นจริงๆ ว่าทำแบบนี้สามารถลดต้นทุนได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระงานให้พนักงานโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ใช่งานงอกจากหน้าที่ของเขา เพราะการที่พนักงานคอยจดบันทึกข้อมูล เก็บสถิตินั้นเรานำมาใช้ประโยชน์โดยมีการพัฒนาปรับปรุงแนวทาง ไม่ว่าการปรับสูตรทำปุ๋ยหมัก การเตรียมดินปลูกพืข อย่างการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนที่นำไปเลี้ยงพืชต่อ หรือส่งขายที่ตลาดสุขใจ หรือแม้แต่การนำผลผลิตที่ปลูกไปแปรรูป เช่น การทำน้ำส้มสายชูจากกล้วย ทำให้องค์กรมีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นซึ่งตัวพนักงานก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน

หรือในเส้นทางข้าวจากโรงสีของสวนสามพราน เป็นการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาสีเอง โดยแกลบที่ได้จะถูกส่งไปฟาร์ม เพื่อทำปุ๋ย หากมีเหลือก็ขายให้เกษตรกรอินทรีย์นำไปทำปุ๋ย ส่วนปลายข้าว และรำ ก็จะถูกส่งไปเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ของฟาร์ม มูลเป็ด มูลไก่ ที่ได้ก็นำมาทำปุ๋ยบำรุงต้นไม้ ใส่แปลงผัก หมุนเวียนเป็นวงจรโดยไม่มีส่วนไหนเหลือทิ้ง

เรียกว่าทริปแรกของสามพรานโมเดล ให้ความรู้กระบวนการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ได้แบบเห็นภาพจริง ไม่ใช่แค่บอกกล่าว ทั้งจากขั้นตอนการจัดการขยะอาหาร Food Waste Management เมื่อเศษขยะอาหารเหลือจากส่วนงานต่างๆ ถูกนำไปแปรรูปเป็น ไบโอแก๊ส นำไปเลี้ยงไส้เดือน นำไปทำน้ำยาล้างจาน ทำปุ๋ยหมักและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และเชื้อเพลิงจากไบโอแก๊ส นำไปใช้ในการต้มเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งเพื่อย้อมผ้า ทุกส่วนมีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ภายในสวนสามพราน

และอีกหนึ่งไฮไลท์ของทริปนี้ คือ ทุกคนได้ไปลงพื้นที่สัมผัสท่องเที่ยวฟาร์มจริงที่ ไร่อาปื๊ดกะ โอปอ ต.คลองบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่นี่เป็นอีกแหล่งเรียนรู้ในการพึ่งพาตนเองและประโยชน์ของการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การทำปุ๋ยพืชสดหมักในถุงไม่กลับกองที่ใช้วัตถุดิบในแปลงมาทำ เทคนิคการตอนกิ่งฝรั่ง การห่อฝรั่ง และได้ชิมรสชาติฝรั่งออร์แกนิกสดๆ จากต้นซึ่งมั่นใจเต็มร้อยว่าปราศจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก รวมถึงได้ชมแปลงปลูกผักอินทรีย์ เช่น คะน้า กวางตุ้ง

ฝรั่งออร์แกนิก ผลผลิตในแปลงที่ไร่อาปื๊ดกะโอปอ