SOCIAL VALUE THAILAND ได้ดำเนินการคัดเลือกองค์กรและบุคลากรที่ให้ความสำคัญต่อการทำเพื่อสังคม ตลอดจนประยุกต์และพัฒนากรอบการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่มีผลงานโดดเด่นต่อการส่งเสริมคุณค่าเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้วงการต่างๆ เห็นความสำคัญของการยกระดับแนวคิด การปรับกระบวนทัศน์ และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญใน "คุณค่าทางสังคม" ทั้งในระดับนโยบาย เพื่ออำนวยการส่งเสริมการบูรณาการในการวางแผน พัฒนากลยุทธ์ กระบวนการจัดสรรงบประมาณที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศที่ให้แต้มต่อกับการสร้างคุณค่าทางสังคม ตลอดจนบทบาทการกำกับดูแลที่กระตุ้น สนับสนุนให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ร่วมบรรลุสัมฤทธิ์ผลทางสังคมได้อย่างแท้จริง ตลอดจนเห็นความสำคัญในระดับปฏิบัติ ที่ส่งเสริมการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เกิดการเรียนรู้ ต่อยอดขยายผลร่วมกันในภาคีเครือข่าย
นอกจากนั้น สถาบัน Social Value Thailand ยังได้พัฒนาเครือข่ายแบบมีส่วนร่วม พลิกกติกาใหม่ทางสังคมเพื่อนำไปสู่ "การเปลี่ยนวิถีในการร่วมรับผิดรับชอบและมีส่วนในการสร้างกำไรทางสังคม" ด้วยการร่วมนำร่องการปฏิบัติและส่งเสริมผู้นำการบุกเบิกเพื่อการพัฒนาสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
โดย 2 องค์กรชั้นนำ และ 7 บุคคลสำคัญ ได้มีบทบาทร่วมสร้างสรรค์พัฒนาคุณประโยชน์คุณาประการแก่การดำเนินงานร่วมกับ Social Value Thailand โดยสถาบันฯ ได้จัดพิธีมอบรางวัล "Social Value Leader Award 2020" เป็นครั้งแรก ในงาน Social Value matters 2020 : Bangkok เพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคมระลึกถึงความสำคัญใน “การทำเรื่องสังคมให้สำคัญ”
ผู้รับรางวัลในระดับองค์กร ได้แก่
1.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีความโดดเด่นในโครงการ "Social Innovation Village" ที่ได้เผยแพร่ "นวัตกรรมสังคม" สู่การแก้ไขร่วมพัฒนาในเชิงพื้นที่ ตลอดจนได้นำกรอบการวางแผน ประเมินผลตอบแทนทางสังคม SROI นำร่องและพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดพัทลุง ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่องค์กร ตลอดจนผู้นำชุมชนและนักวิจัยเพื่อนำเป็นแนวทางประยุกต์ติดตามผลลัพธ์ ต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 ในการเริ่มพัฒนาระบบ SROI CALCULATOR เป็น web-base application ที่จะช่วยให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาเอื้อต่อการติดตามประเมินผลในโครงการเพื่อสังคมในการขยายผลต่อไป
2.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่นำร่องกรอบการประเมิน SROI ในการให้บริการหลักขององค์กร (Core business operation) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริหารบุคลากรภายใน ตลอดจนองค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้ง สคร. สนข. กทม. ผู้รับสัมปทาน ฯลฯ ได้ตระหนักถึงกรอบเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนา "คุณค่าทางสังคม" ร่วมกัน
ผู้รับรางวัลระดับบุคคล ได้แก่
1.ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
สมาชิกวุฒิสภาไทย
ท่านเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้ริเริ่มผลักดันการพัฒนาโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการจัดตั้ง คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมการเปิดหลักสูตร "บริหารธุรกิจเพื่อสังคม" เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างคนที่มีทั้งความสามารถและความเข้าใจการบริหารจัดการทั้งทางธุรกิจและสังคม
ท่านยังเป็นผู้ส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบายและพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลอดจนส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจตลอดจนความสำคัญของมิติทางสังคมให้แก่ผู้นำระดับสูงของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมอย่างต่อเนื่อง
2.ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
บรรณาธิการ Green Innovation & SD / Manager Online
เป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ ที่มีบทบาทส่งเสริมความรู้และการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานแรกๆ ของประเทศ ตลอดจนได้สนับสนุนกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความสำคัญในการบริหารเชิงผลสัมฤทธิสังคมอย่างต่อเนื่อง
3.ดร. ศิริกุล เลากัยกุล
Country director of Sustainable Brands Thailand
เป็นผู้ขับเคลื่อนและน้อมนำหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมการสร้าง Brand ที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรชั้นนำของประเทศ ตลอดจนเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการ/แบรนด์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมพลังในการพัฒนาสังคมร่วมกันของแบรนด์
นอกจากนั้น ยังได้ริเริ่มโครงการ Chef for Chance เพื่อนำพลังของบรรดา Chef และร้านอาหารมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤตโควิด - 19 ในระยะเวลา 32 วัน ได้สร้างผลลัพธ์ในการระดมทุนและจัดทำอาหารเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และชุมชนด้อยโอกาสมากกว่า 50,000 มื้อ ใน 7 โรงพยาบาล 4 ชุมชน และเกิดผลตอบแทนทางสังคมกว่า 10 เท่า
4.ดร.อำพล อาภาธนากร
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
เป็นผู้ร่วมบุกเบิกสร้างความเข้าใจแก่ทั้งผู้บริหาร ผู้นำและเจ้าหน้าที่ภายในองค์กร ตลอดจนเป็นบุคคลที่ส่งเสริมการนำ SROI ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อปรับกรอบกระบวนการให้ทุนให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
5.ดร. สันติ เติมประเสริฐสกุล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในฐานะ Standard Advisory Council กับการร่วมพัฒนากรอบมาตรฐานในการประเมินติดตามผลอย่างถูกต้อง ตลอดจนความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัย "ตัวชี้วัดทางสังคมและแนวทางการประเมินมูลค่า" ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการสนับสนุนรากฐานในการดำเนินงานของสถาบันอย่างเข้มแข็งต่อไป
6.ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล
ผู้อำนวยการเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
มีการนำกรอบมาตรฐานการประเมินติดตามผลลัพธ์ทางสังคมมาบูรณาการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน และส่งเสริมศักยภาพของสถาบันการศึกษาไปสู่การประเมินและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่โครงการระดับประเทศ ได้แก่ “โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0” ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายอุดมศึกษาทั้ง 9 แห่ง ของสกอ. ในการพัฒนาโจทย์วิจัยกลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Hub) และจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีศักยภาพ สามารถตอบโจทย์ความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าบริการให้กับสังคมอย่างแท้จริง
7. ผศ. ดร.ปัทมา ล้อพงค์พานิชย์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล
ท่านเป็นผู้ขับเคลื่อนการนำงานวิชาการไปสู่การพัฒนาวงการสาธารณสุขไทย ตลอดจนได้นำร่องการนำกรอบการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (SROI) ไปผสานกับกรอบการประเมินความคุ้มค่าของสวัสดิการทางการแพทย์และพยาบาลในกรณี “Social Return on Investment For Patient Treated By Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: A Case Study In Ubon Ratchathani Province, Thailand” ซึ่งนับเป็นการเผยแพร่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคไตและเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ต่อยอดในวงการสาธารณสุขไทย
สถาบันเชื่อในพลังของ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" และหวังว่าจุดเริ่มต้นของการจัดพิธีมอบรางวัล “ Social Value Leader Award 2020” เป็นปีแรกครั้งนี้ จะนำไปสู่ความภาคภูมิใจ การส่งเสริมให้เกิดการขยายผลต่อยอดสู่เครือข่ายองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคสังคมและผู้นำในหลากหลายสาขาอาชีพ ให้ร่วมผนึกกำลังในการสร้างจุดยืนทางสังคม นำไปสู่การขยายผลกำไรทางสังคมอย่างเท่าทวีคูณ และในปี 2021 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพงาน “Social Value International Conference” จะนับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ และหวังว่าจะเกิดการขยายบทบาท ครอบคลุมกว้างขวาง และมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกรางวัลอันทรงเกียรตินี้ต่อไป