ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,430 ตัวอย่าง (นักเรียน ร้อยละ 64.76 และนักศึกษา ร้อยละ 35.24) ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 8 ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ “เยาวชนไทยกับโควิด-19” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทยในมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน
ผลการสำรวจพบว่า เยาวชนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 83.29 กังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กังวลในระดับปานกลาง (ร้อยละ 62.97) รองลงมา คือ กังวลในระดับมาก (ร้อยละ 21.66) และกังวลในระดับน้อย (ร้อยละ 15.37)
จากการสอบถามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า เยาวชนร้อยละ 97.41 มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้ อันดับ 1 การสวมหน้ากากอนามัย (ร้อยละ 95.80) อันดับ 2 การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 87.06) อันดับ 3 การรักษาระยะห่างทางสังคม SOCIAL DISTANCING (ร้อยละ 65.94)
ในด้านการติดตามข่าวสารของเยาวชน เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า เยาวชนร้อยละ 94.13 มีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ (ร้อยละ 83.15) และมีเพียงร้อยละ 5.87 เท่านั้นที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารเลย
เมื่อสอบถามถึงมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ของสถานศึกษา เยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.83 เห็นว่า มาตรการของสถานศึกษามีประสิทธิภาพดี แต่อีกร้อยละ 12.17 เห็นว่ามาตรการของสถานศึกษายังไม่มีประสิทธิภาพจะต้องมีการปรับปรุง และเมื่อสอบถามเยาวชนถึงข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.16 เห็นว่าควรให้ทางรัฐบาลมีความเข้มงวดเกี่ยวกับกับมาตรการการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่ากลุ่มเยาวชน มีการติดตามข่าวสารในช่องทางต่าง ๆ และตื่นตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบมายังสถานศึกษา เช่น การปิดสถานศึกษาหากมีการระบาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อโอกาสด้านการศึกษาของกลุ่มเยาวชนที่จะขาดหายไป ดังนั้นทางสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรวางแนวนโยบายและ
วางมาตรการการรับมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานศึกษา อีกทั้งยังควรดำเนินการไปพร้อมกับการส่งเสริมความรู้ในการป้องกัน และวิธีการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในทางตรงกันข้ามสถานศึกษาใดมีการผ่อนปรน และยังไม่มีประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมและการเตรียมมาตรการดังกล่าว ควรมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมการป้องกัน และควบคุมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองรวมทั้งผู้เรียน มีความมั่นใจในความปลอดภัย เพื่อจะสามารถส่งเสริมการเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น