ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำระดับโลก ได้หันมาดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล ไม่เว้นกระทั่งบริษัทที่ทำ Digital Transformation ที่ดีที่สุดในโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากบทความของ Harvard Business Review เรื่อง The Top 20 Business Transformations of the Last Decade อาทิ
Ørsted เปลี่ยนจากธุรกิจการสำรวจและผลิตก๊าซและน้ำมัน มาเป็นผู้นำธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
A.O. Smith เปลี่ยนจากธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ มาเป็นผู้นำด้าน Water Technology ของโลก
Neste เปลี่ยนจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซ มาเป็นผู้นำในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพของโลก และพลังงานหมุนเวียน
Siemens ในปี 2014 ได้ประกาศ Vision 2020 เปลี่ยนจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและอุตสาหกรรม มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้า, เครื่องจักรอัตโนมัติ และระบบดิจิทัล
Ecolab เปลี่ยนจากผู้ให้บริการทำความสะอาดพรมในโรงแรม มาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับ ความสะอาด สุขอนามัย การจัดการคุณภาพน้ำและพลังงาน
พจ ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กูรูด้าน Digital Transformation กล่าวว่า ตามปัจจัยที่พิจารณาในการจัดอันดับครั้งนี้ เห็นได้ว่าบริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จและมีความสามารถที่สำคัญ 3 เรื่องดังนี้
(1) สร้างการเติบโตครั้งใหม่ใน “New Growth Area” ให้กับธุรกิจ ทั้งจากสินค้าและบริการใหม่ๆ ตลาดใหม่ และโมเดลทางธุรกิจใหม่
(2) มีความสามารถในการเปลี่ยนธุรกิจใหม่ของบริษัท ทั้งการเปลี่ยนจาก Core ของธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิม และการสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นใหม่ในตลาดหรืออุตสาหกรรม
(3) มีผลประกอบการของธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านการเงินและตลาดหุ้น ความสามารถในการพลิกฟื้นธุรกิจจากเดิมที่เคยขาดทุนหรือมีการเติบโตต่ำ จนสามารถกลับมาเป็นผู้นำในธุรกิจได้
หนึ่งในตัวช่วยของธุรกิจในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่ SMEs Startup หรือแม้แต่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก็สามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Digital Transformation Canvas ที่ช่วยให้คิดแผนกลยุทธ์ตามหลักการของ Digital Transformation ที่ประกอบไปด้วยการคิด 3 ส่วนหลัก รวม 9 ช่อง ดังนี้
ส่วนที่ 1 เริ่มต้นด้วยการตั้งหลักทรานส์ฟอร์ม ด้วยการคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ จากธุรกิจหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะหาข้อเสนอทางคุณค่าใหม่ของสินค้าและบริการ รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการคิดจากช่องที่ 1-3
ส่วนที่ 2 สร้างความสามารถใหม่ด้านดิจิทัลเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากโมเดลธุรกิจปัจจุบันสู่โมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคตด้วยการคิดจากช่องที่ 4 - 6
ส่วนที่ 3 ทรานส์ฟอร์มองค์กรและทีมงานมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ผู้นำขององค์กรต้องมีความเป็นผู้นำในด้านความสามารถทางดิจิทัล คือรู้ว่าจะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างไรในการปรับเปลี่ยนองค์กร ความเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งเรื่องการเปลี่ยนองค์กร กระบวนการ และระบบนิเวศทางธุรกิจ เพื่อให้องค์กรมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการวางแผนกลยุทธ์ตามช่องที่ 1-6 ด้วยการคิดจากช่องที่ 7-9
ด้วยเครื่องมือของ Digital Transformation Canvas นี้ ธุรกิจจะสามารถสร้างการเติบโตครั้งใหม่ หรือ New S-Curve พร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งองค์กร สังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วยเสียต่างๆ หรือ ESG ได้