xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกริกปั้นนักพัฒนาธุรกิจไทย-จีน เน้นภาวะผู้นำ มุ่งสร้างเศรษฐกิจ-สังคมยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยเกริกชี้ประเทศไทยต้องเร่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีภาวะผู้นำ เดินหน้าปั้นนักพัฒนาธุรกิจไทย-จีน พร้อมตอบโจทย์การทำธุรกิจสมัยใหม่ มุ่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ย้ำสองเจ้าสัว “ชิน โสภณพนิช” กับ “ธนินทร์ เจียรวนนท์” ตัวอย่างผู้นำสร้างความสำเร็จ
ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงวิสัยทัศน์การสร้างภาวะผู้นำให้กับคนรุ่นใหม่ ในปาฐกพิเศษ “เมื่อการค้าโลกเปลี่ยน...การค้าไทย-จีน เปลี่ยน!” ในโอกาสเปิดหลักสูตร “นักพัฒนาธุรกิจการค้าไทย-จีน” หรือ นพธ.1 ที่ศูนย์ประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก โดยกล่าวว่า ประเทศไทยต้องเร่งสร้างภาวะผู้นำให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ ไม่เหมือนกับเทคโนโลยี ที่เมื่อขาดก็สามารถหาซื้อมาได้ ยกตัวอย่าง คุณชิน โสภณพนิช เจ้าสัวธนาคารกรุงเทพ และ คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ทำให้เห็นได้ชัดถึงแนวทางความสำเร็จในการทำธุรกิจ รวมถึง การทำการค้าระหว่างไทยและจีน

พร้อมกับย้ำว่า ให้มีคาถา 3 ข้อ หรือ 3พี (3P) ได้แก่ 1.เรื่องของคน 2.เรื่องของความเป็นมืออาชีพ และ 3.คำพูดที่เชื่อถือได้ มีวินัยในตัวเอง โดยในส่วนความมีวินัยนั้น แบ่งเป็น 4 ข้อ คือ วินัยในความซื่อสัตย์ ซื่อตรง , ความรับผิดชอบ , เมื่ออะไรเกิดขึ้นก็ตามต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และสุดท้ายคือ เมื่อตกลงว่าจะทำอะไรแล้วต้องทำ

“นักการแพทย์ก็เก่งเรื่องการแพทย์ นักอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะเป็นนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมี 3 ข้อ มีคาถา 3 คำ ผมสรุปไว้ 3 พี ว่าการทำการค้าการขายได้ดี People คือ สนใจ จะไปทำการค้าการขาย ต้องรู้เขา รู้เรา ใจเขาใจเรา Professional ต้องเป็นมืออาชีพ ต้องพูดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ พูดไปแล้วมีความสำคัญ เป็นหลักเป็นเกณฑ์ มีความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า และ Principle หลักการ คนทุกเชื้อชาติ ทุกภาษาชอบคนที่พูดแล้วเชื่อถือได้ พูดคำไหนคำนั้น”

“คนไทยชื่นชมคนจีนอยู่อย่าง ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆอแล้วว่า คนจีนจะซื้อมันสำปะหลังกิโลกรัมละ 2 บาท แต่วันที่ขาย คนอื่นหั่เหลือ 1.50 บาท แต่คนจีน ถ้าบอกว่า 2 บาท คือ 2 บาท เพอร์ซันนอล ดิสซะพริ้นท์ (personal discipline) คือ ความมีวินัย ผมก็พอมาสรุปได้ว่า คนไทยที่เราเคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง หรือ นักพัฒนาใดๆ ก็ตามที่เรากราบไหว้ส่วนตัว มีวินัยดีๆ ที่เราเคารพได้ 4 ข้อ” อธิการบดี ม.เกริก กล่าว

สำหรับวินัย 4 ข้อ ได้แก่ 1.วินัยในการซื่อสัตย์ ซื่อตรง 2.ความรับผิดชอบ เมื่อตกลงว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำ ยกตัวอย่าง คนญี่ปุ่น เชื่อได้อีกแบบหนึ่งเพราะญี่ปุ่น ยึดหลักของซามูไร เมื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรแล้วก็ไม่กลัว ทำก็ต้องทำ ตายก็ตาย ไม่กลัว 3.อะไรจะเกิดขึ้นก็ยอมรับ อะไรจะผิดพลาด เมื่อทำแล้วก็ยอมรับ เช่น เคยคิดว่ามันจะเป็นขาว แต่ออกมาเป็นดำ มีหน้าที่ทำ ก็ทำ และ4. เมื่อตกลงว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำ

นอกจากนี้ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก ยังให้แง่คิดว่า เมื่อเจรจาต่อรองต้องทำให้เกิดความชัดเจน เข้าใจได้ พูดง่ายๆคือ โปร่งใส เข้าใจได้ ชัดเจน และ มีความอดทนในทุกอย่างที่ทำ ซึ่งจะส่งผลในการเจรจาและทำการค้าระหว่างไทยและจีน รวมไปถึงการคำนถึงถึงหลักจิตวิทยาตามสามเหลี่ยมของมาสโลว์ ซึ่งสุดท้ายทุกๆคนต้องการความมีชื่อเสียงและความรักเป็นเป้าหมายความพอใจของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า การค้าขายระหว่างไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะการทำการค้าร่วมกับประเทศจีนนั้น อาจทำได้ในหลายมิติ เช่น รัฐบาลต่อรัฐบาล ,สมาคมต่อสมาคม และ ประชาชนต่อประชาชน โดยต้องเน้นที่หลักวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติผ่านหลักสูตร “นักพัฒนาธุรกิจการค้าไทย-จีน” หรือ นพธ.รุ่นที่ 1

“การทำการค้าขายระหว่างไทยและจีนนั้น ผมว่ามันมีหลายวิธี นอกจากรัฐบาลต่อรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้ไปไหนมาไหนได้สะดวก ด้วยรูปแบบความร่วมมือกันด้วยวิธีสมาคมต่อสมาคมก็ดี หรือ แม้แต่ประชาชนต่อประชาชน ก็มีความสำคัญ บางทีอาจเกิดความคิดใหม่ๆ เช่น ประชาชนต่อประชาชนที่มีความเป็นองค์กร (people to people program organization) และ รัฐบาลต่อรัฐบาล (government to government) ซึ่งผมว่ามีหลายระดับ แต่ว่าคนที่จะเป็นนักพัฒนาการค้าไทย-จีน ต้องเตรียมให้ดี เพื่อจะได้เป็นผู้นำ หรือ สอนคนอื่นได้ และแน่นอนเราบอกว่าโควิด 19 ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป วัฒนธรรม วิถีชีวิต แล้วก็มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง”

“ผมก็เลยคิดว่าเทคโนโลยีที่เราพูดๆกัน ผมไม่อยากจะให้คนไทย หรือ ครูบาอาจารย์ตื่นเต้นจนเป็นการข่มขวัญกับนักศึกษา หรือ ใครต่อใคร เทคโนโลยีทุกอย่างจะก้าวหน้าแค่ไหน เราก็รับรู้ไว้แล้วซื้อได้ด้วย ถ้าเราจำเป็นจะใช้เมื่อไหร่ เราก็มาใช้ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาก็คือ ภาวะผู้นำ ให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา เพราะชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าการเมือง การค้า การขาย เศรษฐกิจ การพัฒนาชนบท ชุมชน ที่เขาผ่านมาได้ด้วยดี เขาใช้สามัญสำนึกมาก บางคนบอกว่า ไม่ต้องบริหารที่ใช้สามัญสำนึก ต้องใช้วิชาการ แต่จริงๆ ความสำเร็จที่แท้จริง สุดท้ายจริงๆ คือ สามัญสำนึก” อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก กล่าว 
 
นอกจากนี้ ศ.ดร.นายแพทย์กระแส ยังกล่าวถึง หลักสูตรนักพัฒนาธุรกิจการค้าไทย-จีน ว่า เป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยเกริก ที่จะมีบทบาทสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการทำการค้าร่วมกับจีน โดยการมาเรียนหลักหลักสูตรนี้เปรียบเสมือนนักมวยที่มีครู ซึ่งจะทำให้การทำการค้ากับจีนเดินหน้าได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะข้อกฎหมายการค้าที่มีต่อกันระหว่างไทยและจีน

“ต่อไปนี้ถ้าเราจะเป็นนักพัฒนาธุรกิจการค้าไทย-จีน ถ้ามีคำว่านัก แสดงว่าเป็นผู้เก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักการแพทย์ นักการศึกษา นักกฎหมาย โดยข้อที่ 1 ต้องมองประชาชนก่อน สมมติว่าเราจะค้ากับจีน ต้องศึกษาก่อนว่าจีน เป็นคนยังไง ศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรม คนจีนชอบอะไร และคนจีนมีหลายเผ่าพันธุ์เหลือเกิน”

ขณะที่ ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ ผู้อำนวยการ หลักสูตรพัฒนาธุรกิจการค้าไทย-จีน หรือ นพธ.รุ่นที่ 1 กล่าวว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรใหม่ที่มุ่งตอบโจทย์ผู้ที่สนใจเป็นนักธุรกิจการค้าไทย-จีน อย่างเป็นระบบ โดยตลอดระยะเวลาเรียนของหลักสูตร แบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎีจากคณาจารย์ชาวไทย 6 ครั้ง และคณาจารย์ชาวจีน 6 ครั้ง รวม 12 ครั้ง และที่เหลือเป็นเสวนาใหญ่ 2 ครั้ง นอกจากนี้ เป็นการดูงานนอกสถานที่ และทำแผนธุรกิจในลักษณะจับคู่ธุรกิจอีก 1 ครั้ง โดยตลอดระยะเวลาของการหลักสูตร มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

“ผมคาดหวังว่า ผู้มาเรียนหลักสูตรนี้เมื่อจบออกไป จะสามารถทำแผนธุรกิจได้ และจับคู่ธุรกิจได้ โดยเฉพาะการจับคู่ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน” ดร.วิริยะ กล่าว

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว มีการเชิญผู้บริหารสื่อจีนที่อยู่ในไทยให้มาศึกษาในหลักสูตรนี้ อาทิ ผู้บริหารสื่อซินเสียเยอะเป้าในไทย , ผู้บริหารสื่อแท๊ป แมกกาซีน รวมทั้ง น.ส.พ.จงหัว โดยไม่คาดหวังผลกำไร และมุ่งเน้นการสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ เพื่อต่อยอดการค้าระหว่างไทย-จีน เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างยั่งยืน