ความสำเร็จของจังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ประจำปี 2562 จากโครงการ ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการดำเนินงานให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นั่นเป็นเพราะว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่า และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนจากนโยบายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้เข้มแข็งและสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์กระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นที่จริงแท้ หรือ Local Experiences พร้อมขยายผลพัฒนาเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวคุณภาพจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ มีเป้าหมายกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่สำคัญมุ่งผลักดันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวให้ยั่งยืน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการในชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อพท.จึงใช้เกณฑ์ GSCT เป็นกรอบในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว
โดยในเบื้องต้นได้เชิญภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้มีศักยภาพตามเกณฑ์ GSTC โดยจะกำหนดเป็นแผนงานและวางระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว
๐ ชู 4 มิติธงนำสู่งความยั่งยืน
GSTC ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำพื้นที่และชุมชนก้าวสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงความปลอดภัยด้วย มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวต้องไม่ใช่แค่สร้างรายได้ และต้องสร้างสังคมด้วย เช่น ความสามัคคี มิติด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
“อพท. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวด้วยเกณฑ์ GSTC ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และจะช่วยให้ภาคีได้เข้าใจถึงกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีแนวทางดำเนินการตามเกณฑ์ GSTC”
๐ เล็งส่ง“น่าน-สุพรรณบุรี”ชิงเมืองสร้างสรรค์ปี 64
ดร.ชูวิทย์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 อพท.อยู่ระหว่างผลักดันให้ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมทางหลวง ซึ่งจะไปพัฒนาและสร้างบรรยากาศในด้านหัตถกรรม ปรับปรุงศาลากลางหลักเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ล้านนาตะวันตก เป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะนำแสนแนวคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ในการเรื่องออกแบบ
รวมถึงจะผลักดันให้จ.สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรี เพราะเป็นเมืองที่มีความพร้อมและโดดเด่น ในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่นๆ ที่ได้รับการส่งต่อและประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่น ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของสุพรรณบุรี ผลิตศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ครูจิราภรณ์ ตูน บอดี้ สแลม โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และประชาชน
ในปีนี้ อพท. ได้เตรียมส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แหล่ง คือเทศบาลต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย และต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน เข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100 ภายในปี 2565 โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สุด แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอีก 4 แห่ง ที่ อพท. จะพัฒนามาตรฐานเพื่อส่งเข้ารับการจัดอันดับ Top 100 ในระยะต่อไป ได้แก่ นาเกลือ ในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ต.เมืองเก่า จ.สุโขทัย เกาะหมาก จ.ตราด และต.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
๐ ปั้น “นาเกลือ”เข้า Top 100
โดยพื้นที่ “นาเกลือ”มีความพร้อมของสถานที่ มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีพื้นที่สีเขียว มีกลิ่นอายของความดั้งเดิม มีอาหาร มีตลาด มีงานเดินกินถิ่นนาเกลือ มีการกระจายรายได้
สำหรับ รางวัล Top 100 จะมาตอบข้อสงสัยในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สามารถจับต้องได้ เนื่องจากรางวัลดังกล่าวมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับ ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ โดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่นการทำงานอยู่ในงบประมาณ ทรัพยากร และเวลาอันจำกัด จะมีขั้นตอนของการจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สำหรับประโยชน์ในเชิงการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับ Top 100 ว่า สร้างการรับรู้ในแบรนด์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นในตลาดต่างประเทศ เช่น ถ้าแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเข้าชิงได้รับการจัดอันดับ Top 100 ทางผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB ก็จะนำแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวไปทำการตลาดให้ฟรีผ่านเครือข่ายสมาชิกของ ITB ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายต่อทริปในจำนวนที่สูง
ไม่เพียงแค่นี้ แต่คงต้องจับตา อพท.ภายใต้การนำทัพ ของดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน และผลักดันให้การท่องเที่ยวในเมืองไทยขึ้นสู่ระดับมาตรฐานสากลเทียบชั้นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างไร