xs
xsm
sm
md
lg

พบอีก! ลูกช้างป่าพลัดหลงแม่ ที่อช.ทับลาน ส่วนอีกตัวที่ อช.น้ำหนาว ล้มแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พลัดหลงโขลงแม่อีกตัว
เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โพสต์ภาพลูกช้างป่าที่พลัดหลงโขลงแม่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำนอกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงที่ อช.น้ำหนาว ซึ่งพบเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ล่าสุดล้มแล้ว ผลชันสูตรพบเศษดินและก้อนหินในทางเดินอาหาร คาดว่ากินเพราะหิวระหว่างพลัดหลงกับแม่

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานพร้อมทีมสัตวแพทย์เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่า หลังรับแจ้งจากผู้นำชุมชนว่าพบลูกช้างพลัดหลงออกมาบริเวณสันอ่างเก็บน้ำนอกเขตอุทยานฯ

วันนี้ (20 ก.ย.63) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 10.30 น. ได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชน ท้องที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่าพบลูกช้างป่าพลัดหลงออกมาบริเวณสันอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จึงจัดเจ้าหน้าที่รีบรุดเข้าตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบลูกช้างป่าเพศผู้ อายุไม่เกิน 2 เดือน น้ำหนักประมาณ 79-80 กิโลกรัม สภาพเบื้องต้นมีลักษณะผอม อิดโรย แต่ยังสามารถเดินได้ตามปกติ เดินไปเดินมา อยู่บริเวณถนนเรียบสันอ่างเก็บน้ำ จึงได้ประสานสัตวแพทย์ โดยได้คำแนะนำว่า ให้พยายามทำคอกชั่วคราว และไล่ต้อนเข้าคอก เพื่อควบคุมให้ลูกช้างไม่หนีไป

เคลื่อนย้ายลูกช้างไปที่ทำการ อช.ทับลาน และลูกช้างก็กินนมแล้ว ดูแข็งแรงขึ้น
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หน.อช.ทับลาน พร้อมทีมสัตว์แพทย์ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าพื้นที่เพื่อวางแผนการช่วยเหลือ โดยลงความเห็นกันว่า ต้องรีบเคลื่อนย้ายลูกช้างไปยังที่ทำการ อช.ทับลาน เพื่อประเมินสภาพร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมสังเกตโรค

ในเบื้องต้นได้ทำคอกชั่วคราวขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ไว้ดูแลอนุบาล ขณะนี้ลูกช้างแข็งแรงขึ้น และสามารถกินนมได้ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อช.ทับลาน จะต้องทำการดูแลตลอด 24 ชม.

หลังจากนี้ อช.ทับลานจะจัดชุดลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ป่าหาร่องรอยของฝูงช้าง บริเวณใกล้กับที่พบลูกช้าง เพื่อวางแผนการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ลูกช้างป่า ที่ อช.น้ำหนาว ล้มแล้ว
ลูกช้างป่าพลัดหลงแม่บริเวณป่าน้ำหนาวล้มแล้ว!!!

ภายหลังสัตวแพทย์เข้าช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ ผลผ่าพิสูจน์พบเศษดินและหินอุดตันทางเดินอาหาร คาดลูกช้างกินเข้าไปขณะพลัดหลงแม่

จากกรณีพบลูกช้างเพศผู้ อายุประมาณ 1-2 เดือน พลัดหลงบริเวณป่าไร่ข้าวโพดของชาวบ้านห้วยระหงส์ ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา โดยได้สร้างคอกชั่วคราวด้วยไม้ไผ่บริเวณจุดที่พลัดหลง เพื่อรอแม่ช้างมารับลูกช้างกลับโขลง โดยมีทีมสัตวแพทย์ เดินทางเข้าประเมินสุขภาพของลูกช้างตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน

ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2563 ได้เคลื่อนย้ายลูกช้างออกจากคอกชั่วคราวจุดแรกบริเวณที่พลัดหลง ไปยังบริเวณสวนสนบ้านแปก อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เนื่องจากเป็นจุดที่มีร่องรอยของช้างป่าใช้เป็นเส้นทางหากิน จากนั้นวันที่ 17 กันยายน 2563 สังเกตเห็นลูกช้างมีอาการอ่อนเพลีย พบรอบบาดแผลบริเวณใบหูด้านขวา และโคนหางพบหนอนแมลงวัน จึงได้เคลื่อนย้ายลูกช้างไปยังคอกชั่วคราวที่โรงรถ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวอีกครั้ง พร้อมทำการรักษาให้น้ำเกลือและอนุบาลอย่างใกล้ชิด

โดยวันที่ 18 กันยายน 2563 หลังเที่ยงคืนถึงช่วงเช้า (19 ก.ย.63) ลูกช้างมีอาการยืนซึม อ่อนแรง ล้มตัวนอนสลับยืนหลับเป็นระยะ ทีมสัตวแพทย์ได้ให้สารน้ำและสารอาหารทางเส้นเลือด ประกอบกับมีฝนตกหนักและลมพัดแรง ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง จึงทำการห่มผ้าและให้นมลูกช้าง จากนั้นลูกช้างเริ่มมีอาการทรุดหนัก ซึม ล้มตัวลงนอน โดยมีอาการหายใจลำบาก เยื่อเมือกซีด ทีมสัตวแพทย์พยายามช่วยเหลือเต็มที่ ในขณะทางเจ้าหน้าที่ได้ยกพยุงลูกช้างขึ้น จากนั้นลูกช้างมีอาการท้องอืดขึ้นเรื่อยๆ กดการหายใจ ทางสัตวแพทย์จึงได้ทำการสวนทวารกระตุ้นการขับแก๊ส ต่อมาลูกช้างเริ่มหยุดการหายใจ จึงให้ยากระตุ้นการหายใจ และปั๊มหัวใจ จนกระทั่งเวลา 09.45 น.ไม่พบการตอบสนองของลูกช้างป่าและล้มในที่สุด

และเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.63) ทางทีมสัตวแพทย์ได้ทำการผ่าชันสูตรซากลูกช้างป่าเพศผู้ดังกล่าว โดยผลการชันสูตรพบเศษดินและก้อนหินในทางเดินอาหาร มีเลือดออกและจุดเนื้อตายในทางเดินอาหาร เกิดการเสื่อมสภาพและเนื้อตายในไต ตับ ม้าม พบเลือดออกในปอด หัวใจมีการขยายขนาดเพิ่มขึ้น พบของเหลวในถุงหุ้มหัวใจประมาณ 50 มิลลิลิตร พบเศษดินและหินในทางเดินอาหารประมาณ 300 กรัม น้ำในทางเดินอาหาร ประมาณ 30 ลิตร

สาเหตุการตายเกิดจากการกินเศษดินและก้อนหินในทางเดินอาหารระหว่างพลัดหลงกับแม่ ทำให้เกิดการอุดตันอาหารและน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ จึงเกิดการติดเชื้อ ท้องอืดและกดการหายใจจนเกิดอาการช๊อคและล้มในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น