การแก้ปัญหาการถือครองที่ดินในป่าอนุรักษ์ จบไม่ได้มานานกว่า 60 ปี ในมุมมองของ ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อัปเดตให้ทราบว่า ตอนนี้กำลังได้รับการคลี่คลาย เพราะกฎหมายแม่บทสองฉบับใหม่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ยอมรับการมีอยู่ของคนในป่า
ภาณุเดช เกิดมะลิ กล่าวว่า “ปัญหาป่าทับที่คน คนทับที่ป่า คาราคาซังมากว่า 60 ปี ทั้งชุมชนที่เคยอาศัยอยู่เดิมแล้วมีอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับ หรือบางส่วนชุมชนมีการขยายพื้นที่เพิ่มหรือบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่มเข้ามาในภายหลัง ถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น มติครม. 30 มิ.ย. 2541 ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ มีที่มาแต่ไม่มีที่ไป”
แต่ปัญหานี้กำลังได้รับการคลี่คลายครับ เนื่องจากมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ยอมรับการมีอยู่ของคนในป่า ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสองฉบับแรก
เนื่องจากได้ร่วมเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี คณะทำงานชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและติดตาม ผลักดันกระบวนการ 240 วัน และกระบวนการในขั้นตอนต่อไปให้สัมฤทธิผล มีการลงไปแลกเปลี่ยนพูดคุย รับฟังปัญหาจากประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ พยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดข้อตกลงร่วมและเอาปัญหาที่พบเจอระหว่างสำรวจ รวบรวมข้อมูล สรุป เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยพิจารณาในการแก้ไขปัญหา “คนอยู่กับป่า”
สำหรับเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับการสำรวจถือครองในเบื้องต้นต้องไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติทั้ง 2 ใช้บังคับ ภายใต้กรอบเวลาตามมติครม. 30 มิ.ย. 2541 หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 และจะไม่ได้สิทธิในการครอบครอง แต่ได้สิทธิในการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ
กลไกการสำรวจตามกฎหมายใหม่นี้ มีการกำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการสำรวจเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ตามกฎหมาย (เป็นบทการเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เป็นการตัดหรือจำกัดสิทธิของประชาชนในกรณีที่เกิดการสำรวจตกหล่น) และถือเป็นกุญแจสำคัญที่บังคับเจ้าหน้าที่ต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา เพราะหากไม่เสร็จถือว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าอนุรักษ์หรือมีที่ดินทำกินในป่าอนุรักษ์ต้องตกขบวนรถไฟนี้อย่างแน่นอน ไม่ได้รับการรับรองการอยู่และทำกินตามกฎหมาย และปัญหาคนอยู่ในป่าคงไม่มีวันจบสิ้น
ล่าสุดมีการสำรวจเสร็จในเบื้องต้นตามกรอบระยะเวลากฎหมายกำหนด จากข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค.2563 พบว่า ในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1 แห่ง ส่วนอีก 226 ป่าอนุรักษ์ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4,295,501.24 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 126 แห่ง มีจำนวน 2,745 หมู่บ้าน เนื้อที่ 2,550,044.18 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง 1,003 หมู่บ้าน 1,471,908.37 ไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 40 แห่ง 444 หมู่บ้าน 273,548.69 ไร่
ถือเป็นตัวเลขสำรวจที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันที่สุด ตั้งแต่ที่มีหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการสำรวจมา มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและมีการเดินรังวัดที่ดินอย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการรับรองของชุมชนโดยเฉพาะจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ในแปลงข้างเคียง เพื่อเป็นการทวนสอบข้อมูลที่สำรวจได้อีกทางหนึ่งด้วย
เรื่องที่ต้องทำต่อหลังสำรวจ 240 วันเสร็จแล้ว มีอะไรบ้าง?
ภาณุเดช บอกว่า การสำรวจ 240 วันที่ผ่านมา เหมือนการตรึงพื้นที่ ณ วันที่สำรวจเสร็จแล้วให้อยู่ ถ้าขยายหรือบุกรุกเพิ่มเติมหลังจากนี้ คือจับกุมดำเนินคดีอย่างเดียว ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นการสำรวจข้อมูลถือครองและใช้ประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาให้สิทธิแก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์นั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังเร่งออกกฎหมายลำดับรอง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและกำลังปรับแก้เนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด
ซึ่งเนื้อหาในกฎหมายลำดับรองจะระบุหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างละเอียด รวมถึงมีระเบียบ กติกาการอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่เขตบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับวิถีของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกับหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์และเสนอเป็นโครงการตามกฎหมายลำดับรองว่าชุมชนจะอยู่ในพื้นที่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร และบุคคลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไรบ้าง เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้
ข้อมูลอ้างอิง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร