xs
xsm
sm
md
lg

ขวด PET บรรจุน้ำดื่ม “ไม่ควรใช้ซ้ำ และตากแดด” จริงหรือ!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมบริโภคน้ำดื่มจากขวดน้ำพลาสติกแบบขวด PET เพราะสะดวกซื้อ สะดวกใช้ และสะอาดปลอดภัย แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และไปเชื่อตามคำบอกกล่าว ที่ว่า


“ควรใช้ขวดเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำไปบรรจุน้ำดื่มซ้ำ เพราะอาจจะเกิดอันตราย จริงหรือ!”


"เมื่อขวดน้ำตากแดด อาจจะทำให้เกิดสารอันตรายจากพลาสติก จริงหรือ!"


ขอนำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

1. ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุน้ำดื่มจำหน่ายในประเทศไทยนั้น มักจะมี 2 แบบคือ ขวดสีขาวขุ่นและขวดใสไม่มีสี โดยพวกขวดขุ่นนั้น จะทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอทีลีน (PE หรือ polyethylene หรือ PE) ส่วนขวดใส จะทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอธิลีน เทเรพธาเลต (polyethylene terephthalate หรือ PET) ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน พวกขวด PET จะเป็นที่นิยมใช้มากกว่าขวด PE

2. ขวด PET ที่นิยมใช้เป็นขวดใสใส่น้ำดื่มหรือเครื่องดื่มต่างๆ นั้น ถูกผลิตมาให้เป็นขวดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่สามารถนำมากลับมารีไซเคิ้ลได้ โดยเมื่อดูที่ก้นขวด มักจะเห็นเครื่องหมายลูกศร วนเป็นสามเหลี่ยมนั่น มีเลข 1 อยู่ตรงกลาง หมายถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นเป็นชนิด PET

3. ความที่มีหลายคนนิยมเก็บขวดน้ำดื่มเอาไว้ในรถ ซึ่งบางครั้งต้องไปจอดตากแดดทั้งวันจนมีอากาศร้อนจัด ทำให้เกิดข่าวลือข่าวมั่วทำนองที่ว่า อุณหภูมิที่สูงมากในรถจะทำให้สารเคมีที่อยู่ในขวดพลาสติกออกมาปนเปื้อนในน้ำ เช่น สาร BPA และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลต่อความผิดปรกติของพันธุกรรม เป็นโรคมะเร็งได้

4. สาร BPA (หรือ bisphenal A) นั้น แม้ว่าจะเป็นสารที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเพศ และมีความกังวลกันว่าอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ถ้าได้รับเข้าไปมาก แต่ความจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นองค์ประกอบของพลาสติกที่มาทำเป็นขวด PET แต่อย่างไร .สาร BPA นี้ ส่วนมากใช้ยารอยต่อของโลหะของกระป๋องอาหาร และใช้ผลิตพลาสติกพวกโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate หรือ PC) และเคยนำมาใช้ในการผลิตเป็นขวดนมเด็กทารก แต่ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ผลิตภาชนะสำหรับเด็กทารกไปแล้ว

5.1 นอกจากสาร BPA ก็ยังมีสารเคมีตัวอื่นที่แชร์กันว่าออกมาจากขวด PET อีกเช่น สารไดออกซิน (dionxin) และสารพีซีบี PCB ดังนั้นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำการทดลองนำน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกที่จําหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จํานวน 18 ยี่ห้อ ไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน

5.2 จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่ม Dionxin จํานวน 17 ตัว และ PCB จํานวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ... ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่ม Dionxin และ PCB ในทุกตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด (ดู https://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=08&news_id=5429 )

6. จริงๆ แล้ว สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของขวด PET และอาจจะมีออกมาจากพลาสติกชนิดนี้ได้นั้น ก็มีอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น สารอะซิทอลดีไฮด์ (acetaldehyde) แต่มีปริมาณน้อยมาก และไม่น่าจะเป็นกังวล โดยสารอะซิทอลดีไฮด์นี้ แค่อาจจะทำให้น้ำเปล่าในขวดมีกลิ่นที่ไม่น่าดื่ม ( ดูhttps://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate)

7. สารอีก 2 ตัว ที่มีคนกังวลเช่นกันว่าอาจจะปนเปื้อนมาในน้ำดื่มได้ เมื่อขวดนั้นถูกตากแดดทิ้งไว้ โดนความร้อนเป็นเวลายาวนาน คือ สารธาเลต (phthalate) และสาร พลวง (antimony) ... แต่จากงานวิจัยในอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 2012 พบว่า ถ้าจะให้ระดับของสารเหล่านี้ละลายออกมาอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด จนเกินมาตรฐานที่อียูกำหนดไว้นั้น ขวดน้ำดังกล่าวจะต้องตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน (ดูรายละเอียด https://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate#Safety)

8. ในประเทศไทยนั้น มาตรฐานของขวด PET ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ระบุว่าต้องทนต่อความร้อนจัดตั้งแต่ 60 ถึง 95 องศาเซลเซียสได้ โดยเคยมีการสุ่มตรวจขวดน้ำ PET กว่า 10 บริษัท และพบว่า ปริมาณของสารต่างๆ ที่ละลายออกมานั้น ไม่ได้สูงเกินมาตรฐาน (http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/webroot/BQSF/File/VARITY/recycle_plastic.htm)

9. อย่างไรก็ตาม จากการที่ขวด PET ถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ดังนั้น การที่บางคนนิยมนำมาใส่น้ำบริโภคซ้ำๆ หลายครั้ง ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ทำตาม ซึ่งเหตุผลไม่ใช่การกลัวว่าจะมีสารเคมีละลายออกมาจากการใช้ขวดซ้ำ แต่เป็นเพราะว่าอาจจะมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ตกค้าง ถ้าล้างทำความสะอาดไม่ดีพอก่อนที่จะใส่น้ำลงไปใหม่ (โดยเฉพาะบริเวณปากขวดนั้น ถ้าล้างไม่สะอาด อาจกลายเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้)

10. บางคนบอกว่า เก็บขวดน้ำดื่มที่ดื่มแล้วบางส่วน ไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อกลับมาดื่มใหม่วันหลัง พบว่ามีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นในน้ำ เป็นกลิ่นจากสารเคมีออกมาหรือเปล่า ? คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป็นกลิ่นที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากของเรา ปนลงไปอยู่ในน้ำ และเจริญเติบโตพร้อมกับสร้างกลิ่นขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือกลิ่นปากเรานั้นเอง

สรุป : น้ำดื่มที่บรรจุขวด PET และเก็บในรถที่จอดตากแดดนั้น ไม่ได้อันตราย ไม่ได้มีสารก่อมะเร็งปนเปื้อน ตัวของขวดPET เอง ก็สามารถเก็บน้ำดื่มไว้ได้นานถ้ายังไม่ได้เปิดขวด (แต่ก็ควรจัดเก็บในที่ที่ไม่ร้อน ไม่ใช่เอาไปตากแดดไว้เวลาหลายเดือน) และถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรเอามาใช้ซ้ำ ก็ด้วยสาเหตุเชื้อโรคและสิ่งสกปรกอาจจะเข้าไปตกค้างในขวด ไม่ใช่เพราะสารอันตรายจากตัวขวดพลาสติกแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น