สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัทซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเทคโลยีคุณภาพอากาศ และงานประชุมเชิงวิชาการ การปรับปรุงระบบคุณภาพอากาศในคลินิกทันตกรรมอย่างไรในบริบทของทันตเเพทย์เเละวิศวะกร ณ ศูนย์ฝึกอบรม ซัยโจ เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ส.ค.63)
สมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า “ปณิธานหรือความตั้งใจของซัยโจ เด็นกิ คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐในการทำหน้าที่เท่าที่เอกชนจะสามารถทำได้ เราภาคภูมิใจในความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนในครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 4 แห่งที่มองเห็นเหมือนกันว่านวัตกรรมของระบบการแลกเปลี่ยนอากาศมีความสำคัญและจำเป็น เช่น การออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพอากาศในห้องทันตกรรม ทั้งในโรงพยาบาล และคลินิก ซึ่งจะต้องนำเทคโนโลยีห้องความดันบวก และระบบเครื่องฟอกอากาศมาใช้ร่วมกัน
“ซัยโจ เด็นกิ ให้ความสำคัญกับการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมาก การที่ในวันนี้เราประสบความสำเร็จ เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว แต่โจทย์จากกรณีโควิด-19 มีความยากเพราะเป็นโรคติดต่อที่ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นในการคิดระบบต้องให้ความสำคัญกับ 5 เรื่อง คือ การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจากภายนอก การแลกเปลี่ยนอากาศ การดึงอากาศออก และการกรองเชื้อโรคทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง ต้องทำให้ระบบมีความเสถียรเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง สอง ต้องทำให้ระบบทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งก็คือการใช้ IoT และสาม ต้องทำให้ระบบสามารถรองรับผู้ป่วยอื่นๆ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 จบลง”
“ถึงแม้เราจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะไม่เพียงระบบแยกอากาศ แต่ประเทศไทยยังมีความสามารถในอีกหลายเทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ เมื่อเราสามารถยืนบนขาตนเองไม่ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยจะอยู่บนความยั่งยืน” สมศักดิ์กล่าว
ลิงก์ ซัยโจ
เด็นกิ จับมือ 4 มหาวิทยาลัยของรัฐ ร่วมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีคุณภาพอากาศ