xs
xsm
sm
md
lg

นักถ่ายภาพสารคดีชื่อดัง เผยเบื้องหลัง “อุตสาหกรรมไข่ไก่ในไทย” กับความโหดร้ายที่หลายคนอาจมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม่ไก่นับพันตัว ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน แออัดอยู่ในกรงที่เล็กมาก เดินหรือกางปีกแทบไม่ได้
องค์กรนานาชาติแอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัล และซิเนอร์เจีย แอนิมอล เผยแพร่สารคดีตีแผ่ความจริงของอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่ในประเทศไทย ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นแม่ไก่ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน แออัดอยู่ในกรงซึ่งเล็กมาก เดินไปมา หรือกางปีกแทบไม่ได้ และต้องอยู่อย่างนี้ทั้งชีวิต

ภาพสารคดีชุดนี้บันทึกโดยนักถ่ายภาพและนักเคลื่อนไหวพิทักษ์สัตว์ ‘แอนดรูว สโควรอน’ พร้อมด้วยทีมจากแอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัล โดยร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ซิเนอร์เจีย แอนิมอล

สโควรอน กล่าวว่า "ผมได้เห็นฟาร์มไข่ไก่มาแล้วจากมากมายหลายประเทศ และทุกครั้งก็ใจหายกับความโหดร้ายที่ได้เห็น น่าเสียใจที่ฟาร์มไข่ไก่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ต่างกันนัก สิ่งที่เกิดขึ้นมันไร้มนุษยธรรมอย่างมาก" ในฟาร์มไข่ไก่ในประเทศไทย แม่ไก่ต้องอยู่ท่ามกลางเสียงอื้ออึงและไม่มีโอกาสสัมผัสแสงธรรมชาติ ฟาร์มบางแห่งก็อยู่ในสภาพที่สกปรกมาก มีกองมูลไก่ ขนไก่ และไข่แตกบนพื้น และบางแห่งก็มีซากแม่ไก่ติดอยู่ในซี่กรง”

สโควรอน กล่าวต่อว่า "ผู้คนทั่วโลกเริ่มปฏิเสธกรงขังแล้ว แต่ฟาร์มบางแห่งที่เราไปก็ยังมีการใช้กรงเก่าจากสหภาพยุโรป ระบบกรงเป็นระบบที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่งและถูกสั่งห้ามใช้ในสหภาพยุโรปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012"

แอนดรูว สโควรอน ทำอาชีพเป็นนักถ่ายภาพสื่อในโปแลนด์ ประเทศบ้านเกิดของเขาเป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะตัดสินใจหันมาทุ่มเทให้กับการบันทึกภาพความจริงของสัตว์ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเพื่อความบันเทิงกับองค์กรนานาชาติ แอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัล “เราทราบมาว่าความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์เป็นค่านิยมสำคัญในสังคมไทย และเราก็หวังว่าประเทศไทยจะมาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านกรงขังไปกับเรา ผู้บริโภคชาวไทยและแม่ไก่ในไทย สมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้”

ขบวนการผลิตไข่ไก่ที่ “ปกติ” แต่แสนทารุณในประเทศไทย
ทำไมต้องเป็นประเทศไทย

สโควรอน แอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัลและซิเนอร์เจีย แอนิมอลตัดสินใจผลิตสารคดีชุดนี้ในประเทศไทยเพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยมีโอกาสได้ตัดสินใจอย่างมีข้อมูล วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทย ของซิเนอร์เจียแอนิมอลกล่าวว่า "เรานำภาพเหล่านี้มาเผยแพร่เพื่อให้คนไทยได้เห็นสภาพความเป็นจริง ที่คิดกันว่า "เป็นปกติ" แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่"

ภาพเหล่านี้บันทึกจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมปี 2019 ประเทศไทยถูกเลือกเนื่องจากว่าเป็นประเทศผู้ผลิตไข่รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแม่ไก่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่กว่า 60 ล้านชีวิตต่อปี ไข่ไก่เป็นโปรตีนจากสัตว์ที่ถูกที่สุด และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเมนูอาหารที่เป็นที่นิยมหลาย เมนู เช่นผัดกระเพรา หรือข้าวไข่เจียว

แม่ไก่ที่ต้องยืนบนพื้นลวดแข็ง กับชะตากรรมที่กำหนดไว้ตลอดชีวิตของพวกเขา
กรงตับเป็นระบบการผลิตที่โหดร้ายทารุณต่อสัตว์ที่สุดระบบหนึ่ง

การผลิตไข่ไก่โดยใช้กรงตับถือเป็นระบบหนึ่งที่โหดร้ายทารุณต่อสัตว์ที่สุด แม่ไก่แต่ละตัวมีพื้นที่ให้ใช้ชีวิตอยู่น้อยกว่ากระดาษเอสี่หนึ่งแผ่น และกรงแต่ละใบอาจบรรจุแม่ไก่ไว้ถึง 12 ตัว ด้วยเหตุนี้เอง แม่ไก่จึงต้องใช้แทบทั้งชีวิตโดยกางปีกเต็มที่แทบไม่ได้ เดินไปมาหรือหมุนตัวแทบไม่ได้ และยังถูกจำกัดการทำพฤติกรรมตามธรรมชาติซึ่งสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา เช่น วางไข่ในรัง คุ้ยเขี่ยพื้นดิน และเกาะคอน

เป็นเรื่องปกติที่แม่ไก่ในระบบการเลี้ยงแบบใช้กรงจะมีโรคกระดูกร้าวหรือกระดูกพรุน เนื่องจากไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย และต้องออกไข่อยู่ตลอด และอาจขนร่วง เนื่องจากตัวครูดกับลวดโลหะซึ่งเป็นผนังกรงอยู่ตลอดเวลา วิชญะภัทร์กล่าวเสริมว่า "การขังแม่ไก่ไว้ในกรงในสภาพแบบนี้เป็นเรื่องโหดร้ายทารุณอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าไก่ก็รู้สึกเจ็บปวด เครียดและหวาดกลัวได้เหมือนกัน พวกเขาจึงน่าจะได้รับความเห็นอกเห็นใจมากกว่านี้"

ระบบกรงยังไม่ดีต่อความปลอดภัยด้านอาหารอีกด้วยงานวิจัยโดยองค์กรความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรประบุว่ากรงตับมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแซลโมเนลลาสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับฟาร์มปลอดกรง

หลังจากได้ร่วมมือกับซิเนอร์เจียแอนิมอลบริษัทต่างๆ ได้แก่เทสโก้ โลตัส ซับเวย์ และเบอร์เกอร์คิง ต่างก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะเลิกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงในประเทศไทยให้ได้ก่อนปี 2025 บริษัทนานาชาติอื่นๆ เช่น เนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ คราฟต์ไฮนซ์ และมอนเดลีซ อินเทอร์เนชั่นนัล ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างเดียวกันสำหรับทั่วโลก ซึ่งจะครอบคลุมถึงทวีปเอเชียด้วย

วิชญะภัทร์ กล่าวปิดท้ายว่า "เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวเอเชียก็ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยด้านอาหารเหมือนกัน ไม่มีใครที่อยากจะเห็นอาหาของตัวเองถูกผลิตในกระบวนการที่ผิดธรรมชาติเช่นนี้"

เกี่ยวกับ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล
ซิเนอร์เจียแอนิมอลเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เห็นอกเห็นใจและยั่งยืนกว่าเดิม ใน ค.ศ. 2018 และ 2019 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE)

เกี่ยวกับ แอนิมา อินเทอร์แนชั่นนัล
แอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัลก่อตั้งในปี 2018 โดยผู้นำจากโปแลนด์และเดนมาร์ค เป็นศูนย์รวมเชื่อมโยงนักเคลื่อนไหวเพื่อสัตว์จากทั้งสองประเทศนี้ รวมถึงลิทัวเนีย นอร์เวย์ รัสเซีย ยูเครน เอสโทเนีย เบลารุส และสหราชอาณาจักร แอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่สัตว์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และช่วยเร่งความคืบหน้าในประเทศซึ่งการพิทักษ์สัตว์ยังถูกละเลย ในค.ศ. 2019 แอนิมา อินเทอร์เนชั่นนัล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรยอดเยี่ยมหรือ Top Charity โดย Animal Charity Evaluators (ACE)

รับชมวิดีโอสารคดีได้ที่ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=J4809lImYZ4&feature=youtu.be


กำลังโหลดความคิดเห็น