ถ้าเราจะลองพิจารณาถึงเรื่องคุณภาพของคนในชาติ อาจพิจารณาได้หลายมิติ ทั้งเรื่องความเก่ง และความดี
ในวันนี้จะลองพิจารณาในมิติของความเก่งกันก่อนนะครับว่า คนไทยมีความเก่งและความขยันในการสร้างรายได้มากน้อยเพียงใด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง
ในปี 2562 คนไทยหนึ่งคนสามารถสร้างรายได้เทียบเท่ากับประชากรโลก 0.67คน ใช่แล้วครับ ไม่ถึงหนึ่งคน
โดยคำนวณจากคนไทยมี 69 ล้านคน คิดเป็น 0.9% ของประชากรโลก(7600 ล้านคน)
GDP(Gross Domestic Product) ของไทยมีมูลค่า 16.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 0.6% ของ GDP โลกที่ 2,600 ล้านล้านบาท
เมื่อนำมาคำนวณแล้ว ก็จะได้ว่าคนไทยหนึ่งคนสามารถสร้างรายได้ที่เรียกว่า GDP หรือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นได้ในประเทศเพียง 0.67 คน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คงมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน แต่วันนี้เราจะลองดูสถิติตัวเลขปัจจัยหนึ่งคือ ความรู้ความสามารถและทักษะที่ได้รับการศึกษาฝึกอบรมของแรงงานไทย ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
จะพบว่าระดับการศึกษาของแรงงานไทยนั้น
1) จบมหาวิทยาลัยร้อยละ 22
2) ไม่จบมหาวิทยาลัยร้อยละ 78
2.1 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 22.31
2.2 จบประถมศึกษา ร้อยละ 21.78
2.3 จบมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 17.06
2.4 จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 16.80
จึงเป็นประเด็นที่เราจะต้องมาสนใจและช่วยกันแก้ปัญหา โดยผ่านการปฏิรูปการศึกษา และน่าจะไม่ทันการ ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยเรียนเท่านั้น
เราจำเป็นที่จะต้องเร่งฝึกอบรม พัฒนา และยกระดับความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะของแรงงานที่กำลังทำงานอยู่ในตลาดแรงงานขณะนี้ทั้ง 38-40ล้านคนด้วย
โดยขณะนี้ ทราบว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ในการเร่งยกระดับฝีมือของแรงงานไทยทั้ง 38 ล้านต่อไปครับ
โดย ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
สมาชิกวุฒิสภาไทย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อ้างอิง : สำนักงบประมาณ,สำนักงานสถิติแห่งชาติ,กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรม,กระทรวงแรงงาน