บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ตั้งเป้าพัฒนาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ สู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผุดโครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย และการบริหารอาคารตามเกณฑ์อาคารเขียวไทย หรือ TREES พร้อมเตรียมพื้นที่สีเขียวกว่า 190,052 ตารางเมตร สร้างเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ ธพส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้พื้นที่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กว่า 300 ไร่ จะเต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ และถนนสำหรับการสัญจร ตามภารกิจหลักของ ธพส. คือการพัฒนาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ให้มีความทันสมัย ยกระดับมาตรฐานในการให้บริการและคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงถึงแนวคิดเรื่องการประหยัดพลังงาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ธพส. จึงยกระดับวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มสูงขึ้น คำนึงถึงบริบทโดยรอบและเชื่อมโยงการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องการประหยัดพลังงาน จะมิใช่เพียงการมุ่งเน้นแค่ประหยัดการใช้เท่านั้น แต่จะคำนึงถึงแหล่งที่มาของพลังงานที่ต้องสะอาด เช่น โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)
ธพส. ได้เข้าร่วมโครงการอาคารราชการด้านการจัดการน้ำเสียกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานราชการอื่น ๆ นำไปปรับใช้ สามารถจัดการน้ำเสียจากอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบำบัดน้ำเสียได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติดีขึ้น
นอกจากนี้ ธพส. ยังมุ่งมั่นบริหารอาคารธนพิพัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของ ธพส. ที่ได้รับรางวัล DGNB จากสภาอาคารยั่งยืนของเยอรมัน ในฐานะอาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารยั่งยืน ระดับแพลทินัม ตลอดจนอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน A โซน B และโซน C ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงอาคารโกลเด้น เพลส แห่งใหม่ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทย โดยตัวอาคารได้ถูกออกแบบและก่อสร้างเพื่อมุ่งเน้นให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานมีการใช้วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด เพื่อสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันนานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบกับสุขภาพเป็นอย่างมาก ในแต่ละวันศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีผู้เข้ามาใช้บริการหลายหมื่นคนต่อวัน เปรียบเสมือนเมืองแห่งหนึ่ง ธพส. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ให้ทัดเทียมเมืองคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมเรื่องการเดิน เสริมด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บรรยากาศโดยรวมเอื้อต่อการสัญจร มีความสะดวก ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ สามารถเดินออกกำลังกายพักผ่อนได้ ซึ่งเมืองสีเขียวแห่งนี้จะมิใช่เพียงอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ พนักงาน และผู้ที่มาติดต่อในศูนย์ราชการเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้บริการชุมชนโดยรอบรวมถึงประชาชนทั่วไป
ด้าน นางสาวกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ที่ปรึกษา ธพส. กล่าวว่า ความตั้งใจและเป้าหมายของการดำเนินงานก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์ภายในศูนย์ราชการคือ ปรารถนาให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เป็นปอดอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีลานจัดกิจกรรม สถานที่ออกกำลังกาย มีต้นไม้ใหญ่เรียงยาวเป็นทิวแถวกว่า 1,200 ต้น สร้างความร่มเย็น สดชื่น สบายตาด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ตลอดเส้นทาง รวมถึงที่นี่จะเป็นจุดเช็คอินอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และเป็นสวนสวย แลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะ โดยมีแผนจะเริ่มปรับปรุงภูมิทัศน์จากถนนแจ้งวัฒนะ 7 ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายหลักภายในศูนย์ราชการ ที่เชื่อมโยงโซนต่าง ๆ ทั้ง A B และ C เข้าไว้ด้วยกัน
“เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะยกระดับให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City อย่างเต็มรูปแบบ เป็นโมเดลของเมืองต้นแบบที่มีความทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมดีครบทุกมิติ เป็น Smart Environment ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า ลดมลพิษ ฝุ่นพิษในอากาศ และเป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคน” ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวในที่สุด