xs
xsm
sm
md
lg

“ยะลาโมเดล” ต้นแบบระดับเมือง รับมือโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากการจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยจะได้รับการยอมรับระดับโลก ในการจัดการระดับเมือง “เทศบาลนครยะลา” เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับโควิด-19 ของหน่วยงานภาครัฐ และทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ พร้อมฉายภาพการทำงานของส่วนกลางและนอกพื้นที่ รวมทั้ง วิธีแก้ปัญหาของระดับท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจ

“พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกเทศมนตรี เทศบาลนครยะลา กล่าวว่า “เนื่องจากท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ดูแลประชาชนมาโดยตลอด จึงต้องทำตั้งแต่ป้องกันไปจนถึงแก้ปัญหาให้ทันสถานการณ์หากเกิดวิกฤต สำหรับโควิด-19 มองว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีปัญหาแน่ จึงเริ่มทำแบบจำลองสถานการณ์กรณีเลวร้ายที่สุด โดยดูตัวย่างและเรียนรู้จากเมืองอื่นๆ ว่า ทำอะไรบ้าง มีกระบวนการจัดการอย่างไร เช่น เมืองอู่ฮั่น”

ภาพ - การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของยะลา
ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 แบ่งการจัดการเป็น 2 ระดับ คือ “ระดับของระบบ” กับ “ระดับขององค์กรพื้นที่”สำหรับ “ระดับของระบบ” มี “การกระจายอำนาจ” ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ในระดับหนึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถรับมือกับโควิด-19 “ความยืดหยุ่นของการปกครองส่วนท้องถิ่น” เนื่องจาก อปท.มีงบประมาณของตนเอง มีความคล่องตัวของการทำงานในระดับหนึ่ง จึงสามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และ “การกระจายและครอบคลุมของกลไกท้องถิ่น” เนื่องจากในท้องถิ่นหรือเทศบาลมีความได้เปรียบในเรื่องต่างๆ ทั้งการรู้จักคนหรือประชาชน ด้วยความเป็นนักการเมือง และการรู้จักพื้นที่ ทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์เกิดขึ้น

ส่วน “ระดับขององค์กรพื้นที่” มี หนึ่ง ประสบการณ์การทำงานในช่วงเหตุการณ์ เนื่องจากมีประสบการณ์การทำงานในช่วงเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่เมื่อปี 2546 ทำให้เรียนรู้หลายเรื่อง เช่น การบริหารจัดการภาวะวิกฤต เมื่อมีการวางระเบิดพร้อมกัน 10 จุด หรือข่าวลือในพื้นที่ เช่น อย่าเปิดร้านในวันศุกร์ ฯลฯ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ของโควิด-19 เมื่อตอนเริ่มระบาดในประเทศไทยว่า มีคนกลับจากต่างประเทศแล้วเข้าไปเดินในห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้คนไม่กล้าไปห้างนั้น เป็นต้น

สอง “ความเข้มแข็งของชุมชน และอสม.” เนื่องจากชุมชนเรียนรู้และปลูกฝังการจัดการตนเองจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้มาก่อนแล้ว เช่น การทำรั้วดูแลชุมชนตนเอง การเน้นการมีส่วนร่วม การมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นต้น

สาม การได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้ให้การสนับสนุนในเรื่องต่างๆ

สี่ การให้ความสำคัญของผู้นำองค์กร ในกรณีโควิด-19 ผู้บริหารทุกคนของเทศบาลมีภารกิจในการเข้าไปดูแลในแต่ละส่วน โดยเป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้ดู พร้อมกับสามารถทำงานร่วมกับภาคประชาชนได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในระดับพื้นที่เมือง มี “ปัญหาและอุปสรรค”ต่างๆ

เรื่องแรก “การกระจายอำนาจ” เนื่องจากมีหลายอย่างที่ต้องรอจากส่วนกลาง เพราะยังไม่ได้มอบอำนาจการจัดการให้ท้องถิ่นอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่ มองว่าในช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์ มีหลายเรื่องซึ่งท้องถิ่นน่าจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอจากส่วนกลาง แต่ในช่วงหลังการรอส่วนกลางทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เรื่องที่สอง “ระเบียบที่เป็นข้อจำกัด” เนื่องจากมีระเบียบต่างๆ ที่ออกมาก่อนเกิดโควิด-19 เป็นอุปสรรคในการจัดการ เช่น “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560“ ทำให้บางอบต.ไม่กล้าจัดซื้อครุภัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่หน้าที่ และกลัวการตรวจสอบ รวมทั้ง ใช้ระยะเวลาจัดซื้อนานมากเพราะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่าง เรื่องการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอที ต้องผ่านคณะกรรมการจังหวัด

เรื่องที่สาม “ระเบียบที่ล้าหลัง” เช่น การนิยามภัยสาธารณะ การสงเคราะห์ เป็นต้น เนื่องจากมีการตีความว่า โควิด-19 ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคไม่ใช่ภัยสาธารณะตามนิยามเดิม ทำให้ต้องมีการนิยามใหม่เพราะโลกวันนี้ภัยสาธารณะที่เกิดจากชีวภาพสามารถเกิดขึ้นได้อย่างที่เห็นนี้ ไม่เพียงแต่ภัยทางธรรมชาติเท่านั้น



๐ เตรียมความพร้อม สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน

“เราเตรียมความพร้อมในเรื่องของคน ตั้งแต่ในหน่วยงานต่างๆ ของเทศบาลและภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง ประชาชนที่เป็นจิตอาสา ในเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ มีการดำเนินการจัดหาไว้เกือบทั้งหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เช่น Thermo Scan เตรียมไว้ทุกจุดทางเข้าเมืองและนับแบบอัตโนมัติ หรืออ่างล้างมือ ในตอนที่มีปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ทางเทศบาลฯ มีการติดตั้งอ่างล้างมือเกือบทั้งเมือง พร้อมกับพยายามเปลี่ยนมุมมองของประชาชนว่าการล้างมือสะอาดกว่า เพื่อทุกคนจะไม่จำเป็นต้องใช้เจลเพื่อไม่ให้เจลเกิดการขาดตลาด เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งขาดแคลนเพราะประชาชนเข้าใจว่าจำเป็นต้องใช้ แต่แท้จริงสามารถใช้หน้ากากผ้าทดแทนได้ โดยทางเทศบาลฯ เปิดอบรมให้ความรู้และสอนการทำสบู่และหน้ากากผ้า พร้อมทั้ง ใช้สื่อต่างๆ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจใหม่”

“ในการตั้งด่านคัดกรอง ใช้การบูรณาการเจ้าหน้าที่ ทั้งหน่วยงานของเทศบาล และจังหวัด โดยในด่านหลักคือเส้นทางเข้าเมือง และด่านรองคือเส้นทางตามตรอกซอยต่างๆ เป็นประชาชนจิตอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้ การนับจำนวนผู้ผ่านด่าน มีความแม่นยำมากทั้งส่วนที่ใช้เครื่องมือแบบอัตโนมัติ และส่วนที่นับด้วยกลุ่มจิตอาสาใช้วิธีการที่เคยเรียนรู้และเป็นประสบการณ์จากการดูแลชุมชนด้วยกันเอง และมีการส่งรายงานทุกวัน นอกจากการคัดกรอง ยังมีการเอ๊กซเรย์ในชุมชน โดยสมาชิกสภาเทศบาล ประธาน-กรรมการชุมชน ร่วมกับ อสม. พร้อมทั้ง ศูนย์อำนวยการ สธ.ทั้งหมด”

“นอกจากนี้ ไม่ได้ทำเฉพาะในเทศบาลนครยะลาเท่านั้น แต่เข้าไปในโรงพยาบาลต่างๆ ในยะลา เพื่อหาแนวทางร่วมมือ ช่วยเหลือ พร้อมกับให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงาน เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลขาดแคลน รวมทั้งเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ตู้พ่นซิลเวอร์นาโน , หุ่นยนต์ Covid Killer , ชุด Hooded Coverall เป็นต้น แม้แต่โรงพยาบาลยะรัง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี แต่เนื่องจากเป็นรอยต่อติดกับยะลาก็ได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมทุกวันกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นการร่วมขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการอย่างใกล้ชิด”

ภาพ- การกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของยะลา
๐ 4 หลักการฟื้นเศรษฐกิจ

เนื่องจากมองว่าหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะเกิดปัญหาอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ จึงจะใช้ 4 หลักการเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

หนึ่ง ทำอย่างไรให้เม็ดเงินกระจายมากที่สุด แทนที่จะกระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

สอง ทำอย่างไรให้เม็ดเงินลงถึงข้างล่างเร็วที่สุด

สาม ทำอย่างไรให้เม็ดเงินใช้จ่ายได้มากที่สุด

สี่ ทำอย่างไรที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ให้มากที่สุด

“ในฐานะที่เป็นท้องถิ่น ระยะสั้นเราพยายามทำสี่อย่างนี้ให้เกิดผลเร็วที่สุด เช่น เทศบาลฯ ไม่ได้แจกถุงยังชีพ เพราะมีระเบียบราชการมากมาย จึงคิดโครงการปันอิ่มด้วยการแจกเป็นคูปองสามารถแลกอาหารในร้านใดก็ได้ แล้วร้านก็นำคูปองมาขึ้นเงินกับเทศบาลฯ ทำให้ value chain ยาวขึ้น แทนการซื้อถุงยังชีพแจกจ่ายซึ่งเม็ดเงินจะตกอยู่กับร้านค้ารายใหญ่และโรงงานไม่กี่รายเท่านั้น หรือจ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ให้ลูกจ้างของเทศบาลฯ แทนการจ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ประชาชนเร็วที่สุด”

“ในการทำให้เม็ดเงินที่ใช้จ่ายได้มากที่สุด ในเรื่องสาธารณูปโภคของเทศบาล เช่น ลดค่าน้ำประปา 60% และค่าดิลิเวอรี่ซึ่งทางเทศบาลรับผิดชอบให้ทั้งหมด เพื่อให้ทั้งร้านค้าและผู้ส่งของได้เม็ดเงินเต็มๆ ส่วนเม็ดเงินใหม่ที่จะเกิดจากการขายสินค้าในภาคเกษตร ซึ่งเป็นผลไม้ต่างๆ ที่กำลังออกผลผลิตตามฤดูกาลของยะลา เช่น ทุเรียน ลองกอง เพื่อให้เม็ดเงินใหม่เติมเข้ามาในระบบให้เร็วที่สุด”


๐ ใช้เทคโนโลยีรองรับฐานวิถีชีวิตใหม่

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วและมากขึ้น ซึ่งเราทำอยู่หลายอย่าง เช่น ทำระบบ LINE OA ในจุดคัดกรองต่างๆ ติดไลน์ออฟฟิศเชียล และให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเข้า โดยเทศบาลฯ ติดตั้งฟรีไวไฟทั้งหมดในเขตเทศบาลนครยะลา โดยเฉพาะในจุดที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และมัสยิด ขณะเดียวกัน ก็ให้ประชาชนคัดกรองตนเองจากคำถามในคิวอาร์โค้ด รวมทั้ง เมื่ออยู่ในช่วงเริ่มคลายล็อคก็มีการแนะนำให้สแกนคิวอาร์โค้ดสถานที่ต่างๆ เช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้เมื่อมีความคิดในการทำสมาร์ทซิตี้ มีแผนการติดตั้งฟรีไวไฟในพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาลฯ ไว้แล้ว และกำลังติดตั้งให้ครบทุกจุด”

ภาพ- การกระตุ้นเศรษฐกิจของยะลา
“ไม่ว่าจะอย่างไร โลกวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธอีคอมเมิร์ซและเป็นแนวทางในอนาคต จึงเกิดโครงการหลาดยะลา (YALA Market) ซึ่งมีร้านค้าประเภทต่างๆ เช่น ร้านโชห่วย ร้านอาหาร ฯลฯ รวมทั้ง การบริการ เช่น ช่างไฟ ช่างแอร์ เพื่อรองรับผู้ตกงานและประชาชนที่ไม่มีความรู้ในการขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การช่วยเหลือร้านค้าด้วยการสนับสนุนการขาย ส่งช่างภาพไปถ่ายรูป และนำข้อมูลมาใส่ในระบบ เจ้าหน้าที่เทศบาลทำหน้าที่เป็น back office ให้ และใช้การเรียนรู้แบบ process learning พร้อมกับการใช้วินมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ใกล้ร้านค้าที่สุดเพื่อจัดส่งสินค้า ทั้งนี้ เทศบาลฯ มีการอบรมการใช้งานด้วย ไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่มีที่ยืนในสังคม” นายกเทศมนตรี เทศบาลนครยะลา กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจยะลา

ภาพ - การทำ E-Commerce ของยะลาเพื่อรับมือโควิด-19
ทั้งนี้ แนวทางและวิธีการดูแลกลุ่มคนไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ หรือเกษตรกรซึ่งยากจนและเป็นฐานรากของประเทศ การพาคนเข้าไปในแพลทฟอร์มใหม่ๆ เป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ และการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เงินไหลในระบบท้องถิ่นได้มากที่สุด ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

การรับมือกับโควิด-19 ของเทศบาลนครยะลา เป็นอีกหนึ่งบททดสอบและประสบการณ์ครั้งสำคัญ อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าท่ามกลางวิกฤตระดับโลก ประเทศไทยยังคงมีพลังเล็กๆ ที่แข็งแกร่ง