สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ดึง 51 องค์กรสมาชิกชั้นนำ เป็นเจ้าภาพร่วมเวที Global Town Hall ของประเทศไทย ในงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 พร้อมเชิญองค์กรชั้นนำ – ไอวีแอล, ไทยวา, ไทยยูเนี่ยน, กสิกรไทย และบ้านปู เป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมถกทิศทางเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อน SDGs ชู 10 ปีต่อจากนี้ "ทศวรรษแห่งการลงมือทำ”
ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก UN Global Compact ให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนานบนเวทีสัมมนาระดับโลก ซึ่งสะท้อนภาวะผู้นำด้านความยั่งยืนของไทยในระดับโลก ที่นอกจากสามารถรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี สมาคมฯ ยังถูกจัดว่าเป็นเครือข่ายท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ส่งเสริมให้องค์กรสมาชิกมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”
กิจกรรมคู่ขนานดังกล่าวเป็นการเสวนาจากผู้แทนบริษัทชั้นนำในไทย ผ่านระบบออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจจากทั่วโลกได้เข้าร่วมฟัง ในหัวข้อ “Build Back Better: Business Resilience for our Future” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า “พลาสติกมีบทบาทสำคัญในวิกฤตโควิด-19 โดยสามารถเพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีสำหรับผู้บริโภค และความต้องการสินค้าที่สะอาดปลอดภัยได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้และสะท้อนให้เห็นว่าพลาสติกยังเป็นส่วนสำคัญของสังคม ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นการนำ PET ที่ใช้งานแล้วมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายกำลังการรีไซเคิลทั่วโลกเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาลและแบรนด์ทั่วโลก เดินหน้าแสดงให้คนเห็นประโยชน์ของ PET และ PET รีไซเคิล (rPET) ด้านสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อทุกคนสามารถร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน”
โฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ผ่านสามช่องทางหลัก หนึ่ง แป้งมันสำปะหลังใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรรมที่ยั่งยืน สอง พัฒนาพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง และสาม พัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน การดำเนินธุรกิจแบบนี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดกระบวนการผลิตจนถึงผู้บริโภค”
เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า “ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน นำแนวคิดการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมมา ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงธุรกิจที่สามารถอำนวยประโยชน์สูงสุด ต่อสังคมและประเทศชาติ อาทิ โครงการ Green DNA เพื่อปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจิตสำนักพนักงานทุกคน นอกจากนี้ การศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยร่วมมือกับภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อการเสมอภาคทางการศึกษา และมีส่งเสริมด้าน Digital transformation โดยทำระบบการเรียนออนไลน์เพื่อ reskill เก่า upskill ใหม่ เสริมความรู้ให้ทันโลกดิจิทัล เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต”
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า “บริษัทฯ ต่อยอดการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานใน 4 แนวทาง หนึ่ง มีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมถึงการลดทอนผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 สอง ‘E’ (Environmental)-Link เชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนและลดผลกระทบเชิงลบ สาม ชูประเด็น ‘S’ (Social) และ ‘G’ (Governance) ตามแนวคิด ESG ผลักดันการเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีให้สังคม รวมทั้งดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส และสี่ กลยุทธ์ที่เป็นหัวใจหลักของบ้านปูฯ คือ Greener & Smarter Investment Focus การลงทุนสร้างพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการนำเสนอแนวทางให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด”
ดร. แดเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) มองว่า “ปัญหาด้านความยั่งยืนยังคงมีอยู่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การทำงานอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ และการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในฐานะผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่
ที่ดี รวมถึงการมีท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ผ่านการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน ที่ชื่อว่า SeaChange® ซึ่งจะครอบคลุมการดำเนินงานธุรกิจอาหารทะเลทั้งหมด”
ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือขององค์กรชั้นนำในไทยที่แข็งแกร่ง ร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยส่งมอบองค์ความรู้จากทั่วโลก โดยเฉพาะจากสหประชาชาติ สร้างความตระหนักรู้และความสามารถในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ สมาคมฯ ขอเชิญชวนองค์กรไทยที่มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนร่วมเป็นสมาชิก สนใจติดต่อ info@globalcompact-th.com หรือเว็บไซต์ https://www.globalcompact-th.com/