ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ วช. ถอดบทเรียนโควิด-19 จากกรณีของประเทศสิงคโปร์ ชี้ 6 จุดอ่อนสำคัญที่ต้องระวัง “หอพักคนงานชาวต่างชาติ – คนสิงคโปร์ที่กลับมาจากต่างประเทศ – ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ Social Distancing – บ้านพักคนชรา – ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนเตรียมอนุบาล – สถานที่ทำงาน”
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยรายงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้วิเคราะห์ "ถอดบทเรียนจากกรณีของประเทศสิงคโปร์" ซึ่งประสบความสำเร็จในระยะแรกของสงครามกับโควิด-19 โดยสามารถชะลอการระบาดได้กว่า 3 เดือน แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมี "จุดอ่อนสำคัญ 6 จุด" ที่ต้องระวัง คือ
1. หอพักคนงานชาวต่างชาติ
•สิงคโปร์มีพนักงานชาวต่างชาติ 1,400,000 คน ทั้งวิชาชีพชั้นสูงและผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นคนทำงานก่อสร้าง 284,000 คน และคนทำงานบ้าน 255,000 คน•คนงานชาวต่างชาติพักอยู่ในหอพัก ซึ่งอยู่กันอย่างแออัด ผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งของประเทศ เป็นกลุ่มที่พักอยู่ในหอพักเหล่านี้•พบผู้ติดเชื้อกว่า 2,000 รายจาก 19 หอพักในจำนวน 43 แห่ง•รัฐบาลได้ประกาศให้ 12 หอพักเป็นพื้นที่กักกันโรค เป็นเวลา 14 วัน
•หอพักที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ S11 Dormitory @ Punggol มีผู้ติดเชื้อ 979 ราย
2. คนสิงคโปร์ที่กลับมาจากต่างประเทศ
•มีคนสิงคโปร์กลับมาจากต่างประเทศในช่วงหลังเป็นจำนวนมาก รัฐบาลให้ทำ Home quarantine เองที่บ้าน เป็นเวลา 14 วัน (ประเมินว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาประมาณ 500 คนที่ตรวจไม่เจอตอนที่เข้าประเทศ) แต่ตอนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน คนจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้มงวดมากนัก มีการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในบ้าน ทำให้แพร่ต่อภายในบ้าน/ครอบครัว แล้วต่อมาก็กระจายไปให้คนอื่นต่อไปอีก
•ต่อมารัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายให้ทำ Government quarantine (State quarantine)
3. ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ Social Distancing
•คนที่อยู่ร่วมกลุ่มกันหรือมีกิจกรรมอย่างใกล้ชิดอาจเกิดเหตุการณ์ “Super spreader” ที่นำไปสู่การติดเชื้อจำนวนมาก เช่น งานเลี้ยงอาหารค่ำ SAFRA Jurong ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 47 ราย
•รัฐบาลต้องแนะนำให้มีกิจกรรมทางสังคมเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น
-ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมทั้งในและนอกบ้าน เช่น รับประทานอาหารกับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน และพบปะเพื่อนฝูงในสวนสาธารณะ เป็นต้น
-ควรอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
•การออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นหรือไม่สวมหน้ากากเมื่อออกไปข้างนอก มีความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
•สิงคโปร์ต้องใช้เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 คนเพื่อดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการ มีการออกคำเตือนมากกว่า 6,200 ครั้ง และปรับมากกว่า 1,000 ครั้ง ตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ
4. บ้านพักคนชรา
•ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 10 รายในสิงคโปร์มีอายุมากกว่า 60 ปี
•บ้านพักคนชรา Lee Ah Mooi พบผู้ติดเชื้อ 16 รายและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทั้งคู่เป็นหญิงชราวัย 86 ปี
5. ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนเตรียมอนุบาล
•เด็กจำนวนมากเป็นพาหะของโรคที่ไม่แสดงอาการและอาจติดเชื้อจากหรือไปสู่ผู้สูงอายุในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว
•มีผู้ติดเชื้อ 30 รายที่พบจาก 2 ศูนย์และอีก 10 รายพบจาก 10 ศูนย์ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ เด็ก และสมาชิกในครอบครัว โดยใน 40 รายที่พบเป็นเด็ก 8 คนและผู้ใหญ่ 32 คน
•กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือศูนย์ Sparkletots พบผู้ติดเชื้อ 27รายโดยเป็นเด็ก 4 ราย และเป็นผู้ใหญ่ 23 ราย
•ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.63 ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กได้ระงับการให้บริการ เว้นแต่กรณีผู้ปกครองที่มีความจำเป็น และไม่สามารถหาวิธีการดูแลเด็กด้วยวิธีอื่นได้
6. สถานที่ทำงาน
•ประมาณร้อยละ 20 ของพนักงานในสิงคโปร์ยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องสำหรับการให้บริการที่จำเป็น
•รัฐบาลพยายามที่จะลดจำนวนกิจการที่ถือว่ายังมีความจำเป็นลงไปอีก เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสได้ดียิ่งขึ้น
•สถานที่ทำงานที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการได้ต้องมีมาตรการดูแลและระมัดระวังอย่างมาก เช่นต้องให้พนักงานสวมใส่หน้ากาก จัดโต๊ะทำงานให้ห่างกัน และรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
ประมวลข้อมูลโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.)
แหล่งข้อมูล: BBC news และ The Straits Times, online