xs
xsm
sm
md
lg

สร้างพื้นที่อาหารสำรอง! “สวนผักคนเมือง”ชวนคนไทย “ปันพื้นที่-ปันผัก-ปันรัก”รับมือโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เพราะปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ และเราจะไม่ทิ้งกัน" เป็นความตั้งใจของโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ที่ยืนยันและใช้เป็นคำเชิญชวนให้คนเมืองหันมาชวนกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมและโลกของเรา ในสถานการณ์ที่โควิด-19 เชื้อโรคร้ายยังคงระบาดอยู่ และไม่รู้จะหยุดเมื่อไร

“โครงการสวนผักคนเมือง” มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เชิญชวนร่วมโครงการ “ปันพื้นที่-ปันผัก-ปันรัก รับมือโควิด 19” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก“สวนผักคนเมือง” โดยขอชวนผู้ที่สนใจร่วมกันสร้างพื้นที่อาหารสำรอง ที่สด สะอาด มีคุณภาพ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนไปด้วยกัน โดยมีกติกา 3 ข้อ ดังนี้
1. หาเพื่อนในชุมชนเดียวกันอย่างน้อย 3 คน ที่สนใจปลูกผัก เพื่อสร้างแหล่งอาหารของกลุ่ม
2. หาพื้นที่ส่วนกลางสำหรับปลูกผัก อาจจะเป็นของชุมชน หรือของสมาชิกคนใดคนหนึ่งที่มีบริเวณ มีพื้นที่สำหรับทำสวนผัก
3. ส่งรายชื่อสมาชิก ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ Email / idline พร้อมแนบรูปถ่ายสถานที่ที่จะปลูก ส่งรายละเอียดทั้งหมด มาที่ Line ID : 065-034-4201(บูรฮัน) ผู้ประสานงานโครงการ

เพียงเท่านี้ ก็จะได้รับคู่มือปลูกผักที่รวบรวมรูปแบบ และเทคนิคการปลูกผักในเมืองไว้อย่างครบถ้วนจำนวน 1 เล่ม พร้อมเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ 5 ชนิด ไปเรียนรู้ และลงมือช่วยกันสร้างอาหารให้ชุมชนต่อไป

สำหรับเงื่อนไขประกอบการพิจารณา มี 3 ข้อ คือ
1) ต้องเป็นการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีใดๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ปลูก ผู้กิน และผืนดิน
2) กลุ่มที่สมัครต้องพร้อมส่งภาพถ่ายการลงมือปลูก และผลผลิตรอบแรกมาให้โครงการสวนผักคนเมืองชื่นชม
3) จากนั้น กลุ่มที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับเมล็ดพันธุ์อินทรีย์เพิ่มอีก 5 ซอง สำหรับการปลูกผักในรอบต่อไป และหนังสือที่ระลึกจากโครงการสวนผักคนเมืองเพิ่มอีก 1 เล่ม


๐ ตัวอย่างชุมชน “ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต”

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา “โครงการสวนผักผสมผสาน” ชมรมเศรษฐกิจพอเพียง มสธ. ได้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินว่างเปล่าใน ขนาด 200 ตารางวา ภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อสร้างแหล่งอาหารของพนักงานในมหาวิทยาลัย มาถึงวันนี้แปลงผักขนาด 200 ตารางวา มีบทบาทสำคัญอย่างมากกับสมาชิกในกลุ่ม เพราะถือเป็นแหล่งอาหารสำรอง ที่สำคัญให้กับสมาชิกในภาวะระบาด covid -19


อีกหนึ่งโครงการดีๆ “โครงการสวนผักเอื้ออาทร” ชุมชนเอื้ออาทรรังสิตคลอง๑ ซึ่งใช้พื้นที่ส่วนกลางรอบๆ อาคารที่พักอาศัย พื้นที่ริมบ่อพักน้ำ บริเวณเกาะกลางถนน และพื้นที่ว่างที่มีอยู่ในชุมชน มาใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนิติบุคคลอาคารชุดนิติ 1 และ นิติ 2

สวนผักเอื้ออาทรแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ว่าหากตั้งใจและลงมือทำแล้ว จะที่เล็กที่ใหญ่ ก็ไม่สำคัญ เพราะเราสามารถปลูกผักได้ทั้งหมด

การปลูกผักของที่นี่ยังเชื่อมโยงให้เห็นว่า การทำเกษตรในเมือง ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชนได้อีกด้วย พื้นที่ที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะได้ถูกจัดระเบียบใหม่ ให้มีการทิ้งอย่างเป็นที่เป็นทางมากขึ้น แยกขยะชิ้นใหญ่ เศษขยะอินทรีย์ก็มีถังหมักปุ๋ยรองรับ เพื่อหมุนเวียนไปใช้ปลูกผักได้ต่อ


ที่สำคัญในวันนี้ พื้นที่ปลูกผักกว่า 10 จุดในชุมชน ถือเป็นแหล่งอาหารสำรอง ที่สำคัญให้กับสมาชิกในภาวะระบาด covid -19

ทั้งสองโครงการดังกล่าว ดำเนินงานร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


๐ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

ในส่วนของ “เครือข่ายสวนผักคนเมือง” ได้มาช่วยกันลงแปลงปลูกผัก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างเครือข่ายสร้างอาหารยามวิกฤต โดยมีเป้าหมายจะนำผลผลิตจากแปลงผัก มาแบ่งปันให้กับกลุ่มคนเปราะบางในพื้น เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนจน คนตกงาน ผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่รอบๆ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ตำบลไทรม้า อ.เมืองนนทบุรี ที่ได้รับผลกระทบการจากแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทำให้เกิดปัญหาด้านการเข้าถึงอาหาร ความมั่นคงทางด้านอาหารในพื้นที่เมือง หลังจากนั้น ในวันที่ 14 เมษายน 2563 ซึ่งผ่านมาเพียง 20 วัน ผลที่เกิดขึ้นคือผักบุ้งจีนแปลงแรก ขนาด 2 ตารางเมตร ได้ผลผลิตผักบุ้งจีน จำนวน 16 กิโลกรัม และสามารถแบ่งปันผักสดๆ แก่คนในชุมชนได้ 55 คน


โครงการสวนผักคนเมืองเชื่อว่า "เกษตรในเมืองเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ที่จะช่วยให้เมืองรอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาความอดอยากหิวโหยของประชาชน ความมั่นคงทางอาหาร เราต้องสร้างความสมดุลให้กับระบบอาหารของเมือง พื้นที่ว่างของเมือง ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ระเบียง สวนหลังบ้าน ที่ว่างหน้าบ้าน ข้างบ้าน ที่ว่างของโรงเรียน ของชุมชน หรือของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนสามารถถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อาหารทั้งสิ้น การปลูกผัก สร้างอาหารให้ตัวเอง เป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนที่ต้องช่วยกันทำ”

ข้อมูลจาก – เพจเฟซบุ๊กสวนผักคนเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น