xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ลุยช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดันพักชำระหนี้ SME กองทุน ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หรือภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เดินหน้า หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือ SME ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือสถานการณ์ภัยแล้ง
วันนี้ (30 มี.ค.2563)นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดบริหารกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอี ฯ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจของ SME รวมทั้งที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งการ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สงครามเศรษฐกิจ หรือภาวะภัยแล้ง ซึ่งในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม และวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติมาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งมาตรการด้านการเงิน ภาษี การชดเชยรายได้และการเสริมความรู้
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อกว่าหมื่นรายนั้น พบว่ามีธุรกิจที่ได้รับการระบาดของ COVID-19 หรือภัยแล้ง จำนวนกว่า 5,600 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูป บริการ ค้าปลีก และท่องเที่ยว คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับสินเชื่อกลุ่มดังกล่าว โดยให้พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ทั้งนี้ SME ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อกองทุนฯ ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non NPL) หรือไม่อยู่ในระหว่างที่ถูกกองทุนดำเนินคดี ก่อนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถยื่นความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการด้วยความสมัครใจที่ธนาคารพัฒนาวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศได้ทุกสาขา ทั่วประเทศในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ได้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน จนถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยต้องแสดงความประสงค์การขอพักชำระหนี้เงินต้น และยืนยันผลกระทบพร้อมระบุเหตุผลที่เกิดขึ้น พร้อมกับระบุประเด็นที่ประสงค์จะขอรับการส่งเสริม อาทิ ด้านการตลาด การเงิน และการผลิต เพื่อประกอบการพิจารณาและให้ความช่วยเหลือต่อไป
“มาตรการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเหลือบรรเทาภาระการชำระหนี้ของ SME ที่เป็นลูกหนี้กองทุนแล้ว ยังเป็นการเสริมสภาพคล่อง และลดแนวโน้มการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อีกด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการกองทุนจะประเมินผลการใช้มาตรการดังกล่าวใน 2 เดือนข้างหน้า” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น