กลุ่มเยาวชนในนครย่างกุ้งร่วมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศผ่านแคมเปญสร้างสรรค์ รูปแบบใหม่‘Air Bear’ ส่งผลภาครัฐ “กรมอุตุนิยมวิทยา-อุทกวิทยา”เมียนมาตื่นตัว เริ่มเผยแพร่ “ค่าคุณภาพอากาศรายวัน” สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก
ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 กลุ่มรณรงค์เกี่ยวกับคุณภาพอากาศนครย่างกุ้ง (Air Quality Yangon หรือ AQY) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนนักศึกษาอายุ 17-23 ปี ได้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์รูปแบบใหม่ที่ชื่อ ‘Air Bear’ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเร่งสร้างแคมเปญสร้างสรรค์ SHIFT ขององค์กรช่วยเหลือเด็ก Save the Children โดยก่อนที่จะมีการรณรงค์ครั้งนี้ ประชาชนในย่างกุ้งเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อใช้สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเตรียมใส่หน้ากากป้องกัน หรือการวางแผนออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลาต่างๆ ระหว่างวัน
กลุ่ม AQY ได้ริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์พลเมือง ด้วยการวัดคุณภาพอากาศรอบๆ ตัวเมืองและโพสต์ค่าที่อ่านได้บนหน้า Facebook ทุกวัน วันละสองครั้ง และมีด็อกเตอร์แอร์แบร์ (Dr. Air Bear) เป็นตุ๊กตาหมียักษ์สีขาวเป็นพระเอกของการรณรงค์ สีขาวของตุ๊กตาหมีถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้สาธารณชนเห็นภาพของผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตลอดระยะเวลาของการรณรงค์ ด็อกเตอร์แอร์แบร์ถูกพาเดินทางไปแสดงตัวทั่วท้องถนนของนครย่างกุ้งบนรถลาก เมื่อเวลาผ่านไป มลภาวะก็ทำให้ขนของตุ๊กตาหมีเริ่มคล้ำขึ้น และหลังจากเริ่มแคมเปญได้สองสัปดาห์ ด็อกเตอร์แอร์แบร์ก็มีชีวิตขึ้นมาด้วยการให้คนสวมชุดตุ๊กตาหมีและสาธิตพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินไปทำงานและการโดยสารขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากจะได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินผ่านไปมาในเมืองได้อย่างมากแล้ว ด็อกเตอร์แอร์แบร์ยังแวะทักทายผู้คนและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอีกด้วย
แคมเปญรณรงค์นี้ได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เกือบ 7 ล้านคน และมีผู้ติดตามบนหน้า Facebook ของ Air Quality Yangon กว่า 20,000 คน แคมเปญนี้ยังได้รับการกล่าวถึงโดยสื่อหลักเกือบทุกสำนักทั่วประเทศ
หลังจากความสำเร็จของแคมเปญรณรงค์ครั้งนี้ในเมียนมา แนวคิดของการรณรงค์สาธารณะนี้ยังสามารถปรับใช้ได้กับอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมลพิษทางอากาศกำลังกลายเป็นปัญหาหลักต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี
ซอ วิน เทต สมาชิกของกลุ่มรณรงค์คุณภาพอากาศ กล่าวว่า โครงการ SHIFT โดยองค์กร Save the Children ช่วยสร้างทักษะให้กลุ่มเยาวชน พร้อมกับให้คำปรึกษา และแนะแนวทางปฏิบัติในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก “ในการรณรงค์ผ่านด็อกเตอร์แอร์แบร์ เรามีจุดประสงค์ที่จะทำให้ภัยคุกคามที่มองไม่เห็นสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้น ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ เราหวังว่าแคมเปญนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนเห็นถึงอันตรายจากมลภาวะที่ไร้การควบคุม และหันมาร่วมมือกันเพื่อทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น”
แอนดี้ นีลเซน ผู้อำนวยการด้านการสนับสนุน สื่อสาร รณรงค์ และสื่อ องค์กรช่วยเหลือเด็ก Save the Children เป็นผู้ริเริ่มโครงการ SHIFT เพื่อเป็นตัวเร่งการสร้างสรรค์แคมเปญรณรงค์ของเยาวชน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก กล่าวว่า “เรามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยแห่งความท้าทาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่คือคนที่มีความเชื่อมั่น เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ และมีการเชื่อมต่อสื่อสารที่ดีขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สิ่งที่พวกเขายังขาดก็คือทรัพยากรและการสนับสนุนเพื่อสานต่อแนวทางพัฒนาเชิงบวก นั่นคือเหตุผลที่เราสร้างโครงการ SHIFT ขึ้นมา”
“คุณภาพอากาศกำลังแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย และหากเราไม่เริ่มปรับลดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปล่อยมลภาวะ สักวันหนึ่งเราคงต้องสวมหน้ากากกันฝุ่นทุกครั้งที่จะออกไปข้างนอก”
“Save the Children ได้ช่วยสนับสนุนคนหนุ่มสาวยุคใหม่ในภารกิจสร้างการรับรู้ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโลกรอบตัว” นายแอนดี้ กล่าว “หวังว่าภาครัฐและประชาชนจะให้ความสำคัญกับเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะต้องสืบทอดโลกใบนี้ต่อไป และให้แคมเปญนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ได้รู้ว่าเสียงของพวกเขาสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้”
กลุ่มรณรงค์คุณภาพอากาศย่างกุ้ง ยังเชิญชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมทำอากาศในเมืองให้สะอาดขึ้น ด้วยแคมเปญออนไลน์ให้คนร่วมลงชื่อและให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามเดินเท้าเพื่อเดินทางในเมืองให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือหันมาขี่จักรยาน รถถีบสามล้อ หรือใช้ขนส่งสาธารณะแทนเมื่อต้องเดินทางระยะไกล แคมเปญนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 1,000 คน และส่งผลให้กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาของเมียนมาเริ่มออกมาเผยแพร่ค่าคุณภาพอากาศรายวันสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเมียนมาปีละ 22,000 คน และเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในคนอีกจำนวนมาก ปัญหาหลักที่ทำให้คุณภาพอากาศในย่างกุ้งแย่ลง เกิดจากจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการเปิดเสรีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2554 และจากการตัดต้นไม้เพื่อทำทางจราจรและพัฒนาเมือง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การปล่อยมลพิษจากโรงงาน การทำอาหารด้วยถ่าน และการเผาขยะ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มลพิษนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลผลิตทางการเกษตร และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิภาพของผู้คน โดยมลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีสูงกว่า 540,000 คนทั่วโลก ตามข้อมูลของ WHO
แคมเปญเพื่อสังคมเช่นโครงการที่ดำเนินการในเมียนมาโดยกลุ่ม Air Quality Yangon และองค์กร Save the Children ได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในเยาวชนและคนหนุ่มสาว