ASL เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยปักธงธุรกิจตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งว่าจะเป็น “สถาบันการเงินออนไลน์ที่ทำธุรกิจครบวงจร” และเริ่มต้นด้วยการทำธุรกิจบริการซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากการปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ASL พบว่า การใช้ระบบออนไลน์ในการดำเนินธุรกิจไม่เพียงช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรและการบริการลูกค้าเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ยังก่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่เข้มข้นยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย
ชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เมื่อลูกค้าเปลี่ยนไป ธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม การบริหารจัดการธุรกิจในยุคนี้ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ในอดีตทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างมากและสิ้นเปลือง เช่น การใช้กระดาษเอกสารในสำนักงานต่างๆ ฯลฯ แต่ปัจจุบันในยุคดิจิทัลช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างอดีตไปได้มาก นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าออฟฟิศสมัยใหม่เป็นสมาร์ทออฟฟิศ มีรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป และช่วยลดการใช้พลังงานโดยเฉพาะการเดินทาง
ข้อดีของการใช้ระบบออนไลน์ ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและละเอียดมากกว่าเดิม ด้วยการใช้ดิจิทัลแพลทฟอร์ม เช่น การเข้าไปใน set trade เพื่อเลือกซื้อ-ขายหุ้น หรือการเข้าไปใน chat room เพื่อคุยกับนักวิเคราะห์ ได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่าลูกค้ารายนั้นจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กก็ตาม จึงถือเป็นการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และช่วยเหลือสังคมแบบผสานไปในการทำธุรกิจ
ชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด
“การใช้ระบบออนไลน์ในการดำเนินธุรกิจ ยังก่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่เข้มข้นยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย”
ในเรื่องธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ในความคิดของ “ชาญชัย” ผู้นำยุคใหม่นั้น หมายความว่า หนึ่ง จะทำอย่างไรให้บริษัทมีระบบการจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้ธุรกิจโกงลูกค้า และสอง จะมีระบบอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าลูกค้านั้นเป็นลูกค้าที่พึงประสงค์หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย เช่น สามารถรู้ได้ว่าเป็นการฟอกเงินหรือไม่ เงินที่นำมาใช้มาจากไหน เป็นต้น
ดังนั้น ยิ่งเมื่อธุรกิจใช้ดิจิทัลและเป็นออนไลน์มากขึ้น ระบบควบคุมมีความแม่นยำและเรียลไทม์มากขึ้น จะมีการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างละเอียด ชัดเจน และรวดเร็ว ส่งผลให้ไม่สามารถทุจริตได้
นอกจากนี้ ยังมองว่า“การให้” คือหัวใจสำคัญของซีเอสอาร์ ซึ่งเริ่มต้นจาก “ผู้นำ” และเมื่อทุกคนในองค์กรรู้จักการให้ไม่เพียงจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง แต่ยังทำให้สังคมดีงามกว่าเดิมอีกด้วย “เพราะการให้หมายถึงแบ่งปัน หมายถึงจิตใจต้องสูง ถ้าใจไม่สูงพอ ให้ไม่ได้ และต้องให้ให้เป็น เพราะหากคิดแต่จะรับ สังคมจะอยู่อย่างไร”
ทั้งนี้ ชาญชัยยังเล่าขยายความยกตัวอย่างให้ฟังว่า เช่น เมื่อร้านอาหารของบริษัทกำลังจะเปิดใหม่ จึงได้มีการให้เงิน 2 หมื่นบาทเป็นเงินกองกลางเหมือนเงินทิปหรือรางวัลสำหรับพนักงานทุกคนของร้านนำไปแบ่งกัน แต่มีเงื่อนไข 4 ข้อที่พนักงานทุกคนต้องทำให้ได้ ข้อแรก ต้องแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย สะอาดไม่มีกลิ่นเหม็น ข้อสอง ต้องรักษากฎระเบียบ กลมเกลียวสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน เพื่อให้รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ข้อสาม ต้องรักษาความสะอาดของสถานที่ และข้อสี่ เปิดให้พนักงานกำหนดขึ้นมาเอง เพื่อให้รู้จักช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรเพื่อลูกค้า แต่หากมีการทำผิดจะถูกหักเงินครั้งละ 200 บาท ถ้าไม่ทำผิดเลยจะมีรางวัลพิเศษเพิ่มเติมให้อีก
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดการ “รู้จักรับ รู้จักให้” เรียนรู้ว่าจะให้สิ่งดีๆ กับลูกค้าอย่างไร และทุกคนต้องรักษาผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง ถ้าไม่มีกฎกติกาจะมีเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เช่น เมื่อไม่พอใจก็จะไม่ยิ้มไม่ต้อนรับ เป็นต้น สิ่งที่ทำนี้ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ผลกระทบที่จะตามมาจะใหญ่ได้ เมื่อมีการขยายผลออกไป จากหน่วยเล็กๆ สู่สังคมรอบข้างที่จะขยายวงออกไปได้อีก
การใช้กลไกของธุรกิจยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นับเป็นการก้าวไปกับการมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้การยกระดับคุณภาพมาตรฐานธุรกิจที่ทันสมัย