xs
xsm
sm
md
lg

13 กลุ่มองค์กรประกาศทำจริง ยึดมั่นธรรมาภิบาลมุ่ง SDG / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ ด้านการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสโลก โดย ก.ล.ต.ร่วมกับ 12 กลุ่มองค์กร เดินหน้าเชิญชวนธุรกิจในตลาดทุนประกาศเจตนารมณ์เป็น “องค์กรธรรมาภิบาล” ประกอบธุรกิจ
ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยึดหลักธรรมาภิบาล ตอบสนองเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และองค์กรในตลาดทุนอีก 12 กลุ่มร่วมกันเปิด “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ก.ล.ต.และองค์กรในตลาดทุนจึงพร้อมใจกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนร่วมทำดีเพื่อแผ่นดิน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์เป็น “องค์กรธรรมาภิบาล” (Governance)

การประกอบธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) และสังคม (Social) เมื่อบูรณาการเข้าไปในกระบวนการธุรกิจ (ESG-in-process) และสอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เป็นกระแสโลกก็ยิ่งน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะชวนบริษัทในตลาดทุนเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 400 กิจการ โดยองค์กรหรือบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการจะเลือกเรื่องที่ต้องการจาก 17 เป้าหมายมาดำเนินการตามเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และรายงานความคืบหน้าทุกปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ซึ่งการรายงานผลปีแรกในเดือนมีนาคม 2563 จะมีการรวบรวมและรายงานต่อคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการนี้ ก.ล.ต.และตัวแทนองค์กรในตลาดทุนอีก 12 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2.สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 3.สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 4.สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย 5.สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 6.สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน 7.สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย 8.สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย 9.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 10.สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 11.สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 12.สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ได้ร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืนดังกล่าว (ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.capthai4good.com )

ในแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งผู้นำ 193 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยไปร่วมลงนามกับสหประชาชาติที่จะร่วมมือกันทั้งโลกแก้ปัญหา 17 เรื่องที่เป็นเป้าหมาย เพื่อหวังว่าโลกจะน่าอยู่คลี่คลายปัญหาได้ภายในปี 2030
ภาคเอกชนที่ร่วมประกาศตัวเป็นองค์กรที่ดีในครั้งนี้ ก็จะเลือกบางเป้าหมายที่เหมาะกับกิจการของตน โดยโครงการนี้วางแผนที่จะให้เกิดความเคลื่อนไหวดังนี้
1.ส่งเสริมและดูแลระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำนวัตกรรมและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้
2.พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมด้วยการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible Business)
ที่สังคมและโลกจะคบ-ค้าด้วย

ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังมีแนวทางที่จะชักชวนผู้ลงทุนในตลาดทุน ให้ร่วมกันผลักดัน (Market Force) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทจดทะเบียน โดยผ่านการลงทุนที่มีธรรมาภิบาล รวมทั้งแนะนำประชาชนให้ลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ คือเลือกลงทุนในกิจการที่เก่งและดี เช่น บริหารธุรกิจในแนว ESG และมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว มากกว่าการหวังผลตอบแทนระยะสั้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ข้อคิด…
การผนึกกำลังของ ก.ล.ต ร่วมกับ 12 กลุ่มองค์กรในวงการตลาดทุนไทย ในการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) และตามมาด้วยการประกาศเจตนารมณ์เป็นพันธสัญญา (Commitment) ว่าจะดำรงสถานะกิจการเป็น “องค์กรธรรมาภิบาล” จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญและดูมีพลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเปิดตัวในนาม “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
การแสดงบทบาทลักษณะ “ปฏิบัติบูชา” ตามแนวพระปฐมบรมราชโอกาสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ที่ทรง “...ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
ภาคธุรกิจเมื่อยึดมั่นปณิธาน คือความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะดำเนินธุรกิจด้วย “หลักธรรมาภิบาล” คือ ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ อำนวยประโยชน์และสร้างความสุขแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การดำเนินกิจการในแนวทาง ESG ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการนำไปสู่ความยั่งยืนที่โลกให้ความเชื่อถือ และ G คือ Good Governance หรือ “ธรรมาภิบาล” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม

เมื่อตัว G ดี เพราะมีค่านิยมดี คิดดี ทำดี ก็ย่อมจะส่งผลการกระทำในด้านที่เกี่ยวกับ E คือ สิ่งแวดล้อม และ S คือ สังคม หรือผู้มีส่วนได้เสีย มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี
การมีธรรมาภิบาลเป็นภูมิคุ้มกันอยู่ในวิถี “ทำดี” จึงเป็นหลักยึดช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมาย และการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน และป้องกันความเสี่ยงจากการถูกต่อต้าน
ดังนั้น โครงการนี้มุ่งส่งเสริมให้เกิด “องค์กรธรรมาภิบาล” จึงเป็นกาารป้องกันปัญหาที่ต้นตอ และสนับสนุนให้เกิดกลไก “ทุนนิยมสร้างสรรค์”

suwatmgr@gmail.com