xs
xsm
sm
md
lg

ฝุ่นควันเหนือลากยาวเลยสงกรานต์!! วสท. แนะ “อยู่กับฝุ่น PM 2.5 ให้ชีวิตรอดปลอดภัย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝุ่นควันพ่นพิษสงกรานต์ภาคเหนือแน่ๆ นอกจากทำผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเหนือต้องกุมขมับ วสท. หวั่นฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ระดมพลังความคิด “ฝ่าวิกฤติฝุ่น ให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย” ด้วยแนวทางแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ
หลังจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่านักท่องเที่ยวภาคเหนือจะลดลง 10 % และสูญรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ (12 - 16 เม.ย.2562) อันเนื่องมาจากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดจากไฟไหม้ป่าทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่าปัญหาฝุ่นควันที่เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 8 จังหวัด ทวีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานกว่าทุกปี หลายพื้นที่พบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณสูงถึง 300-400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้วทั้งระยะสั้นและระยะยาว อันจะนำไปสู่โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด สมอง ปอด และหัวใจ และเป็นสารก่อมะเร็งตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประกาศเตือนนั้น
“เราจึงขอแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยทั้งเมื่ออยู่ในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงการดูแลกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง”
ตามที่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไข 5 มาตรการ คือ
1.ติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ทุกวัน
2.เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หากเจ็บป่วยเฉียบพลังต้องรีบไปพบแพทย์
3.สื่อสารแจ้งเตือนประชาชน พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตน
4.ลงพื้นที่ให้ความรู้ ได้แก่ โรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง
5.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ได้จัดตั้ง “คลินิกมลพิษ” จัดสายด่วนให้คำปรึกษาควบคู่กับการรักษาดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ

ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ สมาคมวิศกรรมสิ่งแวดล้อมไทย เสริมว่าฝุ่นควันพิษในภาคเหนือมีสาเหตุแตกต่างไปจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมาจากการลักลอบเผาไฟป่า เผาตอซังเกษตรและการเผาในที่โล่ง การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะจากสถิติประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดกว่า 7 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรไทยยังใช้วิธีเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่ นอกจากสร้างมลพิษควันแล้วยังทำให้ดินเสียหาย ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ มาใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ยแทนการเผาทำลาย แต่ก็ติดปัญหาทำให้เกิดต้นทุนในการทำเพาะปลูกสูงขึ้น หรือการเพาะปลูกข้าวโพดบนเชิงเขานั้นเป็นเรื่องยากที่จะไถกลบ จึงใช้การเผาและมีโอกาสเสี่ยงที่จะลุกลามเข้าไปในป่า
ขณะที่ สนธิ คชวัฒน์ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงนโยบายด้านมลพิษอากาศควรจะต้องมีมาตรการรองรับอย่างเข้มแข็ง 5 ด้านที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่
1.ด้านรถยนต์ ควรจะทำการปรับเปลี่ยนใช้มาตรฐานน้ำมันและเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 และ 6 ภายใน 4 ปี มีการผลักดันให้รถขนส่งสาธารณะและรถยนต์พ่วงบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ NGV หรือเครื่องยนต์ยูโร 5 ส่วนในเขตเมืองใหญ่อย่าง กทม. เมื่อมีรถไฟฟ้าที่ครบ Loop ก็จะต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล จำกัดปริมาณรถยนต์เบนซิน และมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล
2.ด้านโรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรมใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นที่ปลายปล่องใหม่ โดยกำหนดเป็นค่า Loading เพิ่มประเภทโรงงานเพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติที่ปลายปล่อง การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษทางอากาศ
3.มาตรการลดการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาขยะ ชีวมวล วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้ชัดเจน และมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม ภาครัฐสร้างเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่
“โดยเฉพาะในปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน ควรจะใช้โอกาสที่ดีนี้เป็นวาระในการพิจารณาของอาเซียน โดยที่รัฐบาลควรยกให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้”
4.ผังเมืองและพื้นที่เขียว โดยมีการควบคุมการขยายตัวของอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้า และถนนที่ตัดใหม่ให้มีระยะห่างช่องทางของลมพัดผ่าน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ไทยยังมีน้อยกว่าเป้าหมาย ซึ่งอย่างน้อยควรมีไม่น้อยกว่า 9.0 ตรม./คน
5.การบริหารจัดการ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับในกรณีฉุกเฉินทางมลพิษอากาศในช่วงฤดูแล้ง มีศูนย์บัญชาการตอบโต้โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Commander และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน โดยมีประชาชนและนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วม
“เรื่องนี้ประชาชนต้องการข้อมูลความรู้ความเข้าใจ ขณะที่ภาครัฐต้องใส่ใจต่อสุขภาพประชาชนเป็นหลัก พร้อมให้ข้อมูลความจริงเป็นระยะ และการลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ที่กำหนดไว้ 50 มค.ก./ลบ.ม.ให้เป็น 35 มค.ก./ลบ.ม. ภายในระยะเวลา 3 ปี”

ขณะที่ รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วสท. กล่าวถึงฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาที่มีสาเหตุหลักจากเครื่องยนต์ดีเซล ว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งรัดความร่วมมือกับ 12 ค่ายรถยนต์ให้เป็นจริงโดยเร็ว เช่น ยกระดับการผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ทุกคันภายในปี 2564 และวางแผนเตรียมยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565 ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยฝุ่นละอองที่เป็นพิษจากรถยนต์ใหม่ได้ถึง 80% รวมถึงการยกระดับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถยนต์ดีเซล ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และบริการน้ำมันยูโร 5 ขณะเดียวกันก็เข้มงวดกับการตรวจสภาพรถยนต์เก่า ที่มีมาตรการเข้มข้นตรวจสอบการปล่อยไอเสีย หรือเก็บภาษีรายปีเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนใช้รถใหม่แทน


กำลังโหลดความคิดเห็น