xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพยากรธรรมชาติ เงินลงทุนเพื่อการฟื้นฟู/ ดร.ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีโอกาสแวะเข้าไปหารือกับทาง UNDP ของสหประชาชาติ หัวข้อสำคัญคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในตลาดทุน เพื่อสนับสนุนโครงการ BIOFIN
โครงการ BIOFIN หรือจะเรียกชื่อเต็มว่า The Biodiversity Finance Initiative เป็นโครงการที่จัดตั้ง กลไกการลงทุนเชิงสถาบัน สำหรับการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ในระดับสากล สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 โดยมีหน่วยงานในระดับนโยบายของภาครัฐ เข้าร่วมโครงการ
จากการประเมิน ประเทศไทยมีงบประมาณในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ เพียง 0.1% ของ GDP หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ในปี 2016 ขณะที่ความต้องการเงินลงทุนในการรักษาทุนทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำนวนที่สูงมาก เคยมีการประเมินกันไว้ว่า ต้นทุนต่ำสุดที่ประเทศไทยต้องการมีถึง 198,341 ล้านบาท ภายในช่วงเวลาจาก ปี 2016 ถึง 2021 (http://www.biodiversityfinance.org/index.php/news-and-media/biofin-day-kicks-thailand)
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีสถานะเป็นผู้นำภายในภูมิภาค ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพของทรัพยากรธรรมชาตินั้นก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การบุกรุกทำลายป่า ความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ความต้องการในขยายโครงข่ายการคมนาคม และการลุกล้ำธรรมชาติเนื่องจากธรรมเนียมการเกษตรที่ไม่คำนึงถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนเติบโตขึ้น พร้อมกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นยุทธศาสตร์ในการจัดสรรเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูทุนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศจึงทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อง ในขณะที่การแก้ไขปัญหาไม่สามารถที่จะพึ่งพาภาครัฐได้เพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้ความร่วมมือและความสามารถในการระดมทุน จากภาคเอกชน และภาคสังคม จึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะฟื้นฟูและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
จากการที่ได้มีโอกาสร่วมหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในตลาดทุน กับทางโครงการ BIOFIN ของ UNDP ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้
ในการที่จะพัฒนา Platform สำหรับการระดมทุนเพื่อขยายผลสัมฤทธิ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ควรจะดำเนินการตามแนวของ บันใด 3 ขั้นแห่งความสำเร็จซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการ BIOFIN ได้ลงมือพัฒนาอยู่แล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่ความเข้มข้นของประเด็น และจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เกิดการร่วมประสานขยายผล และเติบโตได้ด้วยตนเอง
บันใด 3 ขึ้นนี้ คือ
1)มาตรการทางภาษี ภาษีดังกล่าว ไม่ได้หมายถึง ภาษีรายได้ที่รัฐบาลเก็บเข้าเพื่อการใช้จ่าย แต่เป็นภาษีนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐาน ให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นต้นทุนเชิงประจักษ์ โดยภาคเอกชน หรือภาคสังคม สามารถในไปใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของทุนทรัพยากรธรรมชาติ คือทุกคนมักคิดว่า ธรรมชาติเป็นของฟรี ทุกคนสามารถตักตวงได้อย่างไม่จำกัด
2)การพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของตลาด เครื่องมือทางการเงินเพื่อสังคมในต่างประเทศมีพัฒนาเกิดขื้นอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น Social Fund, Social Bond, Social Equity Participation หรือ Cryptoasset ที่เป็นที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ สามารถพัฒนาขึ้นในประเทศได้ถ้ามีนวัตกรรมที่เพียงพอ ที่สำคัญคือ Philanthropic Fund ไม่สามารถนับเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อสังคมในกรณีนี้ได้ เนื่องเพราะ Philanthropic Fund มักจะมีลักษณะของไฟไหม้ฟางแล้วแต่สถานการณ์ จึงไม่เกิดผลตอบแทนที่ต่อเนื่อง
3)การพัฒนากิจการเพื่อสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสังคมแล้ว การเกิดของกิจการเพื่อสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ทั้งนี้องค์ประกอบนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะมีเงินทุนเพื่อทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าขาด Actors ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูย่อมไม่เกิดขึ้น กิจการเพื่อสังคม สามารถเกิดจากผู้ประกอบการสังคม หรือจากการสนับสนุนของบริษัทใหญ่ และยังต้องอาศัยเครื่องมือที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ SROI (Social Return on Investment) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยน ผลสัมฤทธิ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสังคม ย้อนกลับเป็นเครื่องมือทางการเงินได้
ดร.ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ ประธานและผู้ก่อตั้ง กิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป
"สุดท้ายนี้หวังว่าคำชี้แนะนี้จะสามารถทำประโยชน์ได้ และขอชื่นชมทาง โครงการ BIOFIN ของ UNDP ที่ได้ริเริ่มและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ มากมาย เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นธรรมในประเทศไทย อันจะยังประโยชน์ให้แก่ลูกหลานของเราในอนาคต"


กำลังโหลดความคิดเห็น