มองย้อนอดีต เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr.Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist)
พร้อมกันนี้ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” สืบเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ
สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2467 เป็นสมาชิกสหภาพวิทยาศาสตร์หน่วยหนึ่งในสภาสหภาพวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติได้รับการยอมรับว่า เป็นองค์กรที่ช่วยประสานงานสำหรับองค์กรระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์ จุดประสงค์ของการก่อตั้งเพื่อส่งเสริมการวิจัยและประยุกต์ใช้ในศาสตร์ด้านปฐพีวิทยาทุกแขนง ส่งเสริมให้มีการติดต่อประสานงานระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในศาสตร์นี้ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
ปัจจุบันสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีสมาชิกที่สังกัดอยู่ในสมาคมของประเทศและภูมิภาคต่างๆ กว่า 86 สมาคม มีประเทศที่เป็นสมาชิก 57 ประเทศ และทุก 4 ปี จะมีการจัดการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) หมุนเวียนกันไปตามประเทศต่างๆ
สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ยังผลให้การพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินเสื่อมโทรม และดินที่มีปัญหา ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เกษตรกรโดยทั่วหน้า ดังเช่น การนำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จนประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคนิคและวิชาการเกี่ยวกับหญ้าแฝกที่ประสบผลสำเร็จ และมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่ง
พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงพื้นที่นับล้านไร่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ที่นอกจากจะมีปัญหาดินไม่อุดมสมบูรณ์เป็นพื้นฐานแล้ว ดินยังมีปัญหาอื่นๆ ทั้งทางเคมีและทางฟิสิกส์อีกด้วย การเพาะปลูกพืชจึงให้ผลผลิตต่ำ เป็นผลให้ราษฎรมีฐานะยากจน พื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดิน ได้แก่ พื้นที่ดินพรุในภาคใต้ ซึ่งเป็นทั้งดินอินทรีย์ และดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและดินเค็มในภาคกลาง และพื้นที่ดินทรายและดินตื้นในหลายภูมิภาค
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาของดิน ซึ่งจะต้องใช้กระบวนการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งสิ้น
ได้แก่ ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูดินตามธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นปัญหาของดินที่เปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เป็นแหล่งให้กำเนิดชีวิตของสัตว์และพืช ซึ่งมีปัญหาของดินเค็ม ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นดินกรวดแห้งแล้ง และเป็นปัญหาของการบริหารด้านต้นน้ำลำธาร ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ เป็นดินทราย เค็ม ขาดน้ำ เป็นปัญหาของการจัดการดินและน้ำของภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายฯ เป็นปัญหาของดินเสื่อมโทรม เป็นดินทรายที่มีแร่ธาตุน้อย เป็นดอนคานและดินกรด เป็นต้น ส่วนวงวิชาการปฐพีวิทยาของประเทศ ตื่นตัวที่จะร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อฟื้นฟู บูรณะ พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างเข้มแข็ง และมุ่งมั่นต่อไป ทำให้มั่นใจได้ว่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์และคุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ของทรัพยากรดินและน้ำของชาติ จะประสบความสำเร็จด้วยดี
ด้วยเหตุดังกล่าว ในการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา ครั้งที่ 19 ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ที่ประชุมมีมติเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิก อะ ไลฟ์ เมมเบอร์ชิพ (A Life Membership)