xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าชัย วิศวกรรม ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ให้เมโทรซิสเต็มส์ฯ คาดคุ้มทุนใน 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น ทุ่ม 25 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม-ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมรับมอบงานติดตั้งจากฟ้าชัย วิศวกรรม ส่งเสริมการใช้พลังงานสีขาวในองค์กรเพื่อลดต้นทุนและเสริมแกร่งธุรกิจในอนาคต
ดร.อัครนันท์ มงคลชลสวัสดิ์
ดร.อัครนันท์ มงคลชลสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับระบบโซล่าร์เซลล์ชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทฯ ได้ทำการส่งมอบงานติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ให้กับ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้เป็นแบบติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารและแบบโรงจอดรถรวม 6 อาคาร ใช้แผงโซล่าเซลล์รวมทั้งสิ้น 1,718 แผ่น สามารถผลิตพลังงานได้กว่า 540 กิโลวัตต์ ทั้งนี้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ ฟ้าชัยฯ เลือกใช้นั้นล้วนแต่มีประสิทธิภาพ ทำให้การใช้งานมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย Inverter ยี่ห้อ KACO new energy จากประเทศเยอรมนี แผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Hanwha Solar จากประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงอุปกรณ์รองรับและยึดแผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Clenergy จากประเทศออสเตรเลีย โดยการให้บริการหลังการติดตั้งนั้น ฟ้าชัยฯ จะจัดเตรียมทีมวิศวกร ที่ได้รับการอบรมจากโรงงานผู้ผลิตสินค้า ที่ ฟ้าชัยฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย คอยให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งานของระบบเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี รวมถึงเป็นผู้ประสานกับทางโรงงานในเรื่องการรับประกันสินค้าให้ โดยที่ทางลูกค้าไม่ต้องดำเนินการเอง นอกจากนี้ ยังมีการรับประกันผลงานเป็นระยะเวลา 1 ปี รับประกันงานติดตั้ง 2 ปี ระหว่างนี้จะเข้ามาตรวจสอบฟังก์ชั่นการทำงานของระบบปีละ 2 ครั้ง ทุกๆ 6 เดือน รวมถึงรับประกัน Inverter 7 ปี แผ่นโซล่าเซลล์ 12 ปี และโครงสร้างรองรับและยึดแผ่นโซล่าเซลล์ 10 ปี
“ส่วนภาพรวมตลาดของธุรกิจด้านระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ฟ้าชัยฯ มองว่าขณะนี้ยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างช้า เฉลี่ยไม่เกิน 20% ต่อปี เนื่องจากยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนโยบายของรัฐ เพราะในปัจจุบันการลงทุนติดตั้งส่วนใหญ่ต้องใช้เงินทุนของผู้ใช้งานโดยตรง จึงทำให้การขยายตัวไม่มากเท่าที่ควร ทั้งยังมีขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการค่อนข้างซับซ้อนและล่าช้า ดังนั้น จึงอยากขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่จูงใจหรือส่งเสริมเพิ่มขึ้น อาทิ ลดขั้นตอนการขออนุญาต ลดหน่วยงานในการขออนุญาต และรับซื้อไฟส่วนเกินที่เหลือใช้ จึงจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจหันมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอ ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า รวมถึงไม่ต้องขยายโรงงานไฟฟ้าอีกด้วย” ดร.อัครนันท์ กล่าว
กิตติ เตชะทวีกิจกุล
ด้าน กิตติ เตชะทวีกิจกุล รองประธานกรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร กล่าวว่า บริษัทฯ มีแนวคิดสำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มาตั้งแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงระบบขนาดเดียวกันที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบันราคาประมาณ 50-60 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนกว่า 10 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปต้นทุนในการติดตั้งมีราคาถูกลง จึงตัดสินใจกลับมาลงทุน และสิ่งสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมทั้งเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจอีกด้วย
“งบประมาณที่ใช้ในการติดตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 25 ล้านบาท มีราคาถูกลงกว่าเดิมครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งได้ระบบการจ่ายไฟทั้งหมดประมาณ 540 กิโลวัตต์ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการคุ้มทุน หลังจากนั้นจะทำให้เรามีรายได้ทางอ้อมจากการประหยัดค่าไฟได้กว่าปีละ 5.2 ล้านบาท เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ” กิตติ กล่าว
“สำหรับการติดตั้งในครั้งนี้เชื่อว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าที่มีความเชื่อและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของบริษัทเรา ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทด้วย ซึ่งระบบนี้เสมือนเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าของบริษัทฯอีกแหล่งหนึ่ง จะใช้ครอบคลุมทั้ง 11 อาคาร โดยปกติแล้วบริษัทฯ ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 700 กิโลวัตต์ พลังงานที่ได้จากการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ได้เกือบ 80% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวม และถือเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน และทำงานคู่ขนานกับการไฟฟ้าฯตลอดเวลาที่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งทำเราใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลดลง
โดยพลังงานไฟฟ้าทั้งสองแหล่งจะถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว (synchronization) ก่อนจะป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของบริษัทพร้อมๆ กันไป ทั้งนี้ แผนในอนาคตต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะในขณะนี้รัฐไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือใช้ ดังนั้น การออกแบบติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราติดตั้งอยู่นี้ จึงเป็นการออกแบบที่ต้องใช้ให้หมด หากภาครัฐไม่มีนโยบายจูงใจ เช่น รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เราก็ยังคงไม่มีแผนจะขยายการติดตั้งในอนาคต” กิตติ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น