xs
xsm
sm
md
lg

วิศวจุฬาฯ จับมือดับบลิวเอชเอ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากสีย้อมผ้า ลดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล (ที่ 2 จากขวา) รองคณบดี พร้อมด้วย รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ (ขวา) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน (ที่ 2 จากซ้าย) อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากน้ำย้อมผ้าแบบเคลื่อนที่ เพื่อจัดการกับปัญหาน้ำเสียที่เกิดการย้อมผ้าในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง จากกิจกรรมอาสาการย้อมผ้าสีดำ ว่าเพื่อช่วยลดมลพิษที่เกิดจากน้ำย้อมซึ่งเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง โดยใช้กระบวนการดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์ชนิดผง
ที่สำคัญเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทั้งนี้ เราได้มีการลงพื้นที่ในการบำบัดน้ำเสียไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพและการประปานครหลวง
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกระบวนการบำบัดที่เลือกใช้ คือ การดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์ชนิดผงซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนสูงและมีคุณสมบัติในการดูดซับสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ในน้ำได้ดี โดยการเติมถ่านกัมมันต์ลงในน้ำและมีการกวนผสมอย่างเหมาะสมให้เกิดการดูดซับอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นจึงทำการแยกถ่านกัมมันต์ออกจากน้ำด้วยระบบรีดด้วยความดัน (Filter press) ซึ่งใช้หลักการบีบอัดด้วยแรงดันเพื่อแยกตัวกลางดูดซับที่ใช้งานแล้วออกจากน้ำ น้ำที่ได้จากการทดสอบแยกน้ำเสียที่มีสีย้อมด้วยกระบวนการดูดซับและการรีดด้วยความดันดังกล่าวมีค่าความขุ่นต่ำกว่า 10 NTU และมีลักษณะใสเทียบเคียงกับน้ำประปาเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า โดยถ่านกัมมันต์ที่ใช้งานแล้วจะจัดอยู่ในกลุ่มของเสียอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
สำหรับระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะถูกติดตั้งบนรถยนต์สำหรับเดินทางไปยังบริเวณที่มีกิจกรรมย้อมผ้าสีดำ เพื่อบำบัดน้ำเสียสีย้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการประสานงานของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพฯ

โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะร่วมกันพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการฝึกอบรมนิสิตตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเสียในการนำความรู้ความเข้าใจทางวิชาการในชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในสถานประกอบการจริงที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของเหมราช อันเป็นส่วนหนึ่งของ WHA GROUP ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชนั้น ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมระดับเวิลด์คลาส ที่มีระบบจัดการน้ำเสียที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น