ภาคีเครือข่ายเดินหน้ารณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมั่นใจลดได้ตามเป้า 88 ล้านใบ ถวายในหลวง 5 ธันวา 2559 เซเว่นฯ รุกเพิ่มสื่อในร้านกระตุ้นการรับรู้และตระหนักมากขึ้น เตรียมใส่เนื้อหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรอบรมพนักงานใหม่ มูลนิธิโลกสีเขียวชี้กลุ่มเด็กเปลี่ยนแปลงง่ายสุด ย้ำ”ถุงผ้า”ช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ชวนทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเอง วอนภาครัฐจัดเต็มให้สมกับการเป็น”วาระแห่งชาติ”
ถุงพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์อำนวยความสะดวกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในเมืองใหญ่และชุมชนในชนบท มีอายุการใช้งานสั้น เพียงไม่กี่นาที แต่กว่าจะย่อยสลายได้ใช้เวลานานนับ 450 ปี เป็นปัญหาในการกำจัด ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติ สถิติในปี 2557 มีขยะมูลฝอยชุมชนประมาณ 26 ล้านตัน ปี 2558 มีประมาณ 27 ล้านต้น แบ่งเป็นขยะพลาสติกและโฟม 2.7 ล้านต้น โดยในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก80% หรือประมาณ 2.16 ล้านตัน
ในแง่ของการกำจัดพลาสติกต้องใช้พื้นที่มากกว่าขยะประเภทอื่นประมาณ 3 เท่า นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่างๆ เช่น พลาสติกเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ พลาสติกที่อยู่ในทะเลทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิต และพลาสติกที่ย่อยเป็นชิ้นเล็กเมื่อปลาบริโภคตายกลายมาเป็นอาหารของคนทำให้เกิดอันตรายได้ หากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเกิดมลพิษ ฯลฯ ดังนั้น รัฐบาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้เห็นชอบให้การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557
โดยต้องจัดการตั้งแต่ต้นทางโดยให้ทุกหน่วยงานดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันตามโรดแมพ 4 ขั้นตอน คือ1. ลดขยะเก่าให้ได้ในพื้นที่วิกฤต 2.ขยะใหม่ ให้ลดตั้งแต่ต้นทาง ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างศูนย์กำจัดรวม ใช้ประโยชน์ให้สูงสุด 3.หามาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อลดขยะ และ4. สร้างวินัยคนในชาติให้มีการจัดการขยะที่ยั่งยืน เป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้อำนวยการส่วนสื่อสารสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาขยะชุมชนในประเทศไทย
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายให้ปีพ.ศ.2559 เป็นปีแห่งการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกและโฟม โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามบทบาทของตน ซึ่งหากประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้หรือใช้ให้คุ้มค่า ก็จะทำให้ลดปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมลงได้
โดยมีการร่วมรณรงค์ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจเอกชน ค้าปลีก ที่เป็นรูปธรรมคือขอความร่วมมือจากห้างต่างๆ รณรงค์ให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกเมื่อมาช้อปปิ้ง ในทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2558 จากนั้นเพิ่มอีก 1 วันคือทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาจึงเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีกเป็นทุกวันพุธ จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี พบว่าสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 53 ล้านใบ โดยมีเป้าหมายว่าภายในวันที่ 5 ธันวาคม 25589จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 88 ล้านใบ เพื่อถวายในหลวง
“นอกจากเพิ่มวันลดการใช้ เราอยากให้ทำทุกวัน ด้วยการใช้ถุงผ้า ตอนนี้มีกระแสเล็กๆ เกิดขึ้นในสังคมรับรู้และเข้าใจมากขึ้น แต่เรื่องจิตสำนึกต้องอาศัยเวลาสร้างให้เกิด และเปลี่ยนแปลงความเคยชินเดิมๆ เรามีหลายกลุ่มเป้าหมาย สำหรับห้างมีจำนวนมากและเป็นต้นทางของการใช้ รวมทั้ง สามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ”
บัญญัติ คำนูญวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ผลของโครงการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก จากการดำเนินการมา 5 ปี แม้การใช้ถุงพลาสติกของร้านเซเว่นฯ จะลดลงไม่มากนัก แต่จากการสำรวจผู้บริโภคโดยถามว่ารู้หรือไม่ว่าเซเว่นฯ ทำอะไรกับสังคมบ้าง? คำตอบที่ได้คือเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก และการดูแลสิ่งแวดล้อมจะมาในอันดับต้นๆ แสดงว่าผู้บริโภครู้แล้วว่ามีการรณรงค์เรื่องนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แนวทางการรณรงค์เป็นการใช้สื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายแบนเนอร์ แต่จากนี้ จะเพิ่มสื่อใหม่ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต และสื่อในร้านสาขาต่างๆ ของเซเว่นฯ เช่น ป้ายแขวน และจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพราะแต่ละวันมีลูกค้าเข้าร้านเซเว่นฯ นับสิบล้านคน นอกจากนี้ พนักงานในร้านซึ่งถามลูกค้าเสมอก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง อีกทั้ง จะบรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรอบรมพนักงานใหม่เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักมากขึ้น
ไม่เพียงการใช้สื่อ ยังมีการหาแนวร่วมเพิ่มเติม จากเดิมที่มีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิโลกสีเขียว และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ในตอนนี้ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายของเด็กรุ่นใหม่ ทั้งนักเรียนระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยลัย ที่อยากทำความดีให้กับสังคมมารวมตัวกัน ปัจจุบันน่าจะมีสมาชิกนับแสนคนและมีโรงเรียนนับร้อยแห่งอยู่ในกลุ่มนี้ จึงคิดว่าน่าจะช่วยให้เกิดผลยิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีการไปรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดซึ่งความน่ารักของเด็กช่วยให้เกิดความสนใจมากขึ้น
ที่ผ่านมามีโรงเรียนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติกแล้วกว่า 69 โรงเรียน และมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 55,000 คน แนวคิดของการสร้างเครือข่ายเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้กระบวนการ ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก ในโรงเรียนให้เยาวชนเพื่อปลูกฝังและปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความตระหนัก เข้าใจ และเป็นแรงผลักดันต่อไปในอนาคต
“ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเริ่มจาก1.การรับรู้ 2.ศึกษาว่าจริงหรือไม่ 3.ทดลองทำเกิดผลที่ดี 4.กลายเป็นนิสัย เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา แม้ว่าจะเห็นผลช้า แต่ด้วยความพยายามของตัวเรา และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ทำอย่างต่อเนื่อง บวกกับกระแสโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภัยพิบัติต่างๆ เช่น แห้งแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ฯลฯ น่าจะทำให้สำเร็จเร็วขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น”
นิตยา วงษ์สวัสดิ์ ผู้จัดการ มูลนิธิโลกสีเขียว ในฐานะผู้แทนองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หารสร้างความตระหนักและการปฎิบัติในกลุ่มเด็กสามารถปลูกฝังและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในเรื่องนี้คือวิถีชีวิตของบ้านเราที่สะดวกสบาย เช่น มีอาหารข้างทางจำนวนมาก ฯลฯ ทำให้มีการใช้มาก เพราะฉะนั้น อาจจะต้องรณรงค์ให้ใช้ปิ่นโต กล่องข้าว ขวดน้ำ พกพาไปซื้อไปเติม ซึ่งห้างช่วยได้โดยให้ผู้บริโภคมีข้อปฏิบัติ ขณะที่ร้านค้ามีการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องลุกขึ้นมาทำให้เกิดผล ไม่ใช่เพียงรับรู้และไม่ได้นำไปปฏิบัติ
เรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนมุมมองจากที่ลูกค้าปกติคิดว่าเมื่อเป็นลูกค้าต้องได้นั่นได้นี่ซึ่งไม่ถูกต้องในเรื่องนี้เมื่อให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยต้องทำให้มองว่านี่ไม่ใช่การเอาเปรียบลูกค้า แต่เป็นเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมื่อมองเรื่องขยะเป็นปัญหาระดับชาติ กลไกทุกอย่างต้องหมุนไปพร้อมกัน รัฐต้องทำเป็นนโยบายให้ชัดเจน เอกชนต้องสนับสนุน และประชาชนต้องร่วมมือ รัฐต้องสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมีนโยบายแต่ไม่มีการสอดรับก็ไม่เกิดผลในทางปฎิบัติ เช่น ต้องมีการโฆษณา การโปรโมทให้ประชาชนรับรู้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่และเราต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพราะส่วนมากเป็นพวกที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่รับรู้ว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนอื่นยังไม่รับรู้ปัจจุบันสื่อที่จะทำให้เกิดกระแสได้มากคือสื่อออนไลน์ และต้องเป็นเรื่องสนุก
สำหรับวิธีการลดขยะถุงพลาสติก จำเป็นต้องพูดเรื่องเดิมๆ คือการใช้ถุงผ้า แม้ว่าจะพูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร เพราะการพกถุงผ้าเป็นเรื่องง่ายที่สุดและทุกคนทำได้ ทุกคนสามารถปฏิเสธถุงพลาสติกได้ง่ายมาก เป็นก้าวแรกที่ทุกคนเริ่มได้ด้วยตัวเอง เมื่อใส่ใจเรื่องนี้จะนำไปสู่เรื่องอื่น
“เราทำเรื่องถุงผ้ามามาก แต่ย้ำว่าตราบใดที่ไม่เริ่มที่ตัวเรา มันเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องถุงผ้าทำให้คนรู้สึกว่าเราพูดซ้ำพูดแล้วพูดอีก แต่มันทำให้เราลดถุงพลาสติกขนาดใหญ่ได้ อยากให้ทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเรา ทุกสิ่งที่เราทำเปลี่ยนแปลงโลกเสมอ เริ่มคิดว่าสิ่งที่เราทำส่งผลกระทบอะไรกับเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง ถ้าทุกคนรู้จักตระหนักในสิ่งที่ทำ เชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเราจะดีขึ้น”