xs
xsm
sm
md
lg

การลงโทษโดยสังคม เครื่องมือกดดันให้ใฝ่ดี/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากคอลัมน์ CSR SPOTLIGHT Green Innovation & CSR ฉบับ ปักษ์หลัง กรกฎาคม 2559

“คอร์รัปชั่น” หรือการทุจริตประพฤติมิชอบ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ฝังรากลึก และลุกลามเหมือนโรคร้ายขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง จึงเป็นเรื่องที่แม้มีข่าวสารให้รับรู้และเห็นผลร้ายจากการใช้อำนาจของนักการเมืองหรือข้าราชการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เลือกแนวทางที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อส่วนรวมและยังใช้งบประมาณที่แพงเกินจริง ขณะที่มีกฎหมายและหลายหน่วยงานเป็นกลไกที่จะป้องกันและปราบปราม แต่ปัญหาก็ยังไม่ลดลง

ในระดับสากลทุกปีที่มักมีการประเมินและวัดค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประเทศไทยก็อยู่ในอันดับที่ย่ำแย่ อย่างปีล่าสุด 2558 ไทยได้คะแนน 38 จากคะแนนเต็ม 100 จัดอยู่ในอันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

จังหวะนี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “การลงโทษโดยสังคม” หรือ Social Sanction ซึ่งเป็นงานเขียนจากผลการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

นับเป็นผลงานวิชาการที่เด่นมาก และช่วยให้เข้าใจปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะกดดันหรือรณรงค์เพื่อการแก้ปัญหาจากภาคประชาสังคมที่มีอย่างต่อเนื่อง

ดร.สังศิต บอกว่ามีคำถามลึกๆ ในใจนับครั้งไม่ถ้วนว่า “สังคมไทยจะสามารถนำกลไกทางสังคมดึง Social Sanction มาเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดของการคอร์รัปชันได้หรือไม่”

ถ้าตอบว่า “ได้” คำถามต่อไปก็คือ “รูปแบบการลงโทษโดยสังคมต่อผู้กระทำการทุจริตควรอยู่ในรูปแบบใด จึงจะสอดคล้องกับบริบท (Context) ของสังคมยุคปัจจุบัน”

หนังสือเล่มนี้มีโครงสร้างเนื้อหาคล้ายการนำเสนอในดุษฎีนิพนธ์ที่ผู้เรียนในระดับปริญญาเอกสามารถศึกษาและเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะมีประเด็นชัดเจน ข้อมูลอ้างอิงที่หนักแน่นรอบด้าน และการวิเคราะห์ที่ชี้จุดอ่อน จุดแข็งผสมผสานของแนวคิดทางทฤษฎีของนักวิชาการระดับโลกหลายสำนัก แล้วต่อยอดเป็นการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองแนวใหม่

ดร.สังศิตได้ศึกษาเรียบเรียงความรู้เกี่ยวกับ Social Sanction อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ก็พบว่าทุกสังคมในโลกจากยุคอดีตจนถึงปัจจุบันล้วนมีปรากฏการณ์เช่นนี้ตามสถานการณ์

Social Sanction หรือ การตรวจสอบและปฏิกิริยาปฏิบัติทางสังคมนั้นมี 2 มิติทั้งเชิงลบและเชิงบวก

การลงโทษโดยสังคมเชิงลบ (Negative Social Sanction) ที่กระทำต่อต้านบุคคล ครอบครัว องค์กร สถาบัน ชนชาติ หรือประเทศ เพื่อกดดันและแสดงปฏิกิริยาต่อต้านพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากความถูกต้องเป็นธรรม ผิดไปจากมาตรฐานเรื่องสังคมที่ดีเช่น การต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย

การกระตุ้นสังคมเชิงบวก (Positive Social Sanction) เป็นการแสดงออกในเชิงสนับสนุนหรือให้รางวัลเป็นแรงจูงใจโดยหวังผลลัพธ์เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีต่อสังคม เช่น การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

เมื่อเจาะจงประเด็นการใช้มาตราลงโทษโดยสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในสังคมไทย

จากการศึกษาของหลายสถาบันทางวิชาการได้ข้อสรุปว่า การทุจริตในสังคมไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพราะทัศนคติของคนไทยจำนวนมากเบี่ยงเบนไป จากค่านิยมดั้งเดิมที่ชื่นชมและยกย่องผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมและความ ซื่อสัตย์ ทุกวันนี้กลับกลายเป็นการไปยกย่องคนที่ร่ำรวยและคนมีอำนาจ โดยไม่สนใจว่าเงินและอำนาจนั้นได้มาอย่างถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่

ขณะที่มีสำนักวิจัยแห่งหนึ่งเคยแพร่ความเห็นคนไทยที่ถูกสำรวจว่า “....ถ้าทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ก็พอยอมรับได้”

อาจารย์สังศิตชี้ให้เห็นว่าเป็นความอ่อนแอทางความคิดของคนไทย และปัญหาหลักคิดเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันมีอย่างน้อย 3 ประการคือ

1.คนพวกนี้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองกับปัญหาคอร์รัปชัน เพราะถ้าปล่อยให้มีการทุจริตที่ร่วมมือกันของนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ ก็จะส่งผลให้ประเทศยากที่จะรุ่งเรือง ด้าน เศรษฐกิจ ด้านสังคมและการเมืองได้

2. ทัศนคติแบบนี้สะท้อนผลการรณรงค์และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลร้ายของการคอร์รัปชัน โดยหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังไม่สามารถทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าใจดีพอ

3.สะท้อนว่าทัศนคติของคนไทยจำนวนมากยังให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมน้อยเกินไป แต่กลับให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป

ประสบการณ์ของภาคประชาสังคมไทยและของต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่งานเขียนชิ้นนี้ได้ศึกษาแสดงให้เห็นว่า การควบคุมการคอร์รัปชันที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการโดยสังคมทั้งเชิงบวกและเชิงลบควบคู่ไปกับการใช้มาตรการลงโทษรูปแบบอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย

จากการศึกษาพบว่า การใช้การลงโทษโดยสังคมต่อนักการเมือง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักธุรกิจที่ทุจริตในสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีการลงโทษโดยสังคมต่อพรรครัฐบาลที่พบว่ามีการทุจริตอย่างร้ายแรง กลับยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะกดดันให้รัฐบาลเกิดความอับอายขายหน้าต่อสังคม จนขอถอนตัวจากการเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากในสภาฯ อย่างเบ็ดเสร็จกลับแสดงบทบาทเป็นทรราช ด้วยการหันมาใช้การตอบโต้ต่อกลุ่มที่เรียกร้องด้วยมาตรการทางกฎหมาย เช่น การตั้งข้อหาว่าก่อความวุ่นวายทางการเมือง หรือขืนใจเจ้าพนักงาน อีกทั้งดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อผู้นำรายบุคคล ด้วยข้อหาเป็นขบถและเป็นผู้ก่อการร้าย ฯลฯ กล่าวได้ว่าบรรดาผู้นำ แกนนำ และผู้ประสานงานของพธม. และกปปส. ถูกฟ้องในหลายข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดของพวกเขามีตั้งแต่ระดับลหุโทษจนไปถึงขั้นประหารชีวิต

ดร.สังศิตเสนอว่า การปฏิรูปเชิงโครงสร้างของสังคม ควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง ขณะที่ชุมชนและสังคมควรมีทรัพยากรและศักยภาพในการส่งเสริมค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเพียงพอ ตลอดจนช่วยรักษาปทัสถานและค่านิยมของชุมชนและสังคมด้านศีลธรรมและคุณธรรมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ชุมชนสามารถใช้ปฏิบัติการเชิงวาทกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบในการควบคุมการทุจริต ประพฤติมิชอบการใช้อำนาจและอิทธิพลเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักธุรกิจที่ฉ้อฉล โดยจะต้องมีกฎหมายและหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ให้การคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลที่ชี้เบาะแสการทุจริตให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้หากกลไกในการในการควบคุมคอร์รัปชั่นในระดับชุมชนต่างๆ มีความเข้มแข็งก็จะเป็นการเสริมสร้างให้การควบคุมคอร์รัปชั่นในระดับชาติเกิดความเข้มแข็งขึ้นด้วย

ข้อคิด.........

ในสังคมปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชน ล้วนถูกคาดหวังว่าต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นพื้นฐานในการทำหน้าที่ตามกิจการงานอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและมีคุณธรรม

ผลงานวิชาการ “การลงโทษโดยสังคม” ของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เล่มนี้ เป็นการสร้างคุณค่าตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงได้ผลิตเครื่องมือสร้างเสริมปัญญาและการสังเคราะห์ปัญหาอย่างมีทางออก ที่สังคมต้องร่วมมือกันอย่างยั่งยืน

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะประกาศท่าทีดำเนินการทางกฎหมายปราบการทุจริตคอร์รัปชันในวงการเมือง และราชการ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาที่บั่นทอนประสิทธิภาพ และการพัฒนาสังคมและประเทศชาติมานานแล้ว แต่ก็ต้องใช้ภาวะผู้นำที่เอาจริงในทุกระดับของกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ

“การลงโทษโดยสังคม” น่าจะเป็นพลังกดดันที่เสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากกรณีที่เกิดขึ้นมี “ผู้ตื่นรู้” ร่วมมือกันแสดงออกจนสั่งสอนนักการเมืองดั่งที่มีผลกับหลายคนมาแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมได้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่จนกลายเป็น Social Media ที่มีการรับและส่งข่าวสารข้อมูลอย่างรวดเร็วและหลากหลายรูปแบบวิธี ช่วยให้สังคม “รับรู้ เรียนรู้ เปรียบเทียบ และแสดงออก” ที่เกิดพลัง “เร็วและแรง”

บุคคลสาธารณะ ประเด็นสาธารณะ ล้วนอยู่ในการจับตาของสังคม อาจได้รับทั้งผลบวก หรือผลลบจาก Social Sanction ก็ได้ ก็หวังว่าสังคมจะมีจุดยืนที่ดีโดยมีเป้าหมายเพื่อคุณประโยชน์สาธารณะ

กำลังโหลดความคิดเห็น