xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้า “ธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา” เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจสตรีชาวไร่อ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กิจกรรมเวิร์คช็อป “การจัดการการเงินเกมเศรษฐี”  ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยเรียนรู้การจัดการการเงินพร้อมความสนุกสนานและมีส่วนร่วม
กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เกาะติดความคืบหน้า “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ในการ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย”หลังจัดอบรมนำร่องในจังหวัดเพชรบูรณ์และอุทัยธานีแล้ว 625 คน

จากการประเมินผลล่าสุดพบว่า ชาวไร่อ้อยในจังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทัยธานี เริ่มมีการนำทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการประเมินสุขภาพทางการเงิน และการควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนการเตรียมตัวเริ่มต้นทำไร่อ้อยในฤดูกาลใหม่ ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรยังคงประสานความร่วมมือในการทำงานและประเมินผลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลานำร่องในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ ก่อนเตรียมขยายผลที่ได้ไปพัฒนาโครงการในระยะต่อไป
พันธมิตร “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” (จากซ้าย) และปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย, นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสารบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง
นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคคา-โคลา มีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนเพื่อนำมาผลิตเครื่องดื่มตามมาตรฐานระดับโลก อย่างกรณีโคคา-โตลาซื้อน้ำตาลจำนวนมากจากผู้ผลิตในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เราก็มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวเนื่อง ตามโครงการ 5by20 ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงที่อยู่ในแวลูเชนของโคคา-โคลา จำนวน 5 ล้านคน ภายในปี 2020 ซึ่งพันธกิจทั้งสองนี้เป็นที่มาของโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา โดยนำร่องกับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในเครือข่ายของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง”

“กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืน มีฝ่ายปฏิบัติงานไร่อ้อยที่เข้มแข็งและทำงานใกล้ชิดกับชาวไร่อยู่แล้ว จึงช่วยรับผิดชอบงานด้านฝึกอบรมการเกษตรที่ยั่งยืน และเข้าฝึกอบรมการบริหารการเงินส่วนบุคคลจากสถาบันคีนันแห่งเอเซียเพื่อเป็นวิทยากรร่วม ส่วนคีนันได้เข้ามาสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวไร่ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีชาวไร่อ้อยในพื้นที่”
สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการถึง 625 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 600 คน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาและการทำงานร่วมอย่างต่อเนื่อง
“โคคา-โคลามีแผนที่จะขยายโครงการไปสู่ซัพพลายเออร์น้ำตาลรายอื่นๆ ในระยะต่อไป โดยขณะนี้ ได้เริ่มพูดคุย ซึ่งจะต้องประเมินด้วยว่า พันธมิตรรายใหม่มองเห็น “คุณค่าร่วม” หรือ “Shared Value” จากโครงการมากน้อยเพียงใด เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมนั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และพันธมิตรก็ต้องเห็นคุณค่าจากผลลัพธ์ของโครงการ และพร้อมที่จะลงทุน ลงแรง ด้วยกัน เราหวังว่าผลจากโครงการนำร่องซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการประสานความร่วมมือบนฐานของการสร้างคุณค่าร่วมกัน จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคสังคมได้ในระยะยาว” นันทิวัต ธรรมหทัย กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ 5by20 เป็นพันธกิจระดับโลกของโคคา-โคลาที่มุ่งเพิ่มศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลาจำนวน 5 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ผู้หญิงทั่วโลกล้วนมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า จากแนวคิดนี้ จึงริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา เริ่มตั้งแต่ชาวสวนผลไม้ ไปจนถึงช่างฝีมือ
ภายใต้โครงการ 5by20 โคคา-โคลา พยายามตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอ ซึ่งนับว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ทักษะในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน และมีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือผู้ให้คำปรึกษา รวมถึงมอบความมั่นใจในการทำธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จแก่พวกเขา
(จากซ้าย) นางสาวณัฐวรรณ ทองเกล็ด (แหม่ม), นางสาวรจนา บุญเพชร (จี๊ด)  และนางสาวรจนา สอนชา (เนะ) ส่วนหนึ่งของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่จากจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เข้าร่วมโครงการนี้
พันธมิตร-สตรีชาวไร่อ้อยปลื้ม

ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “คีนันมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยก่อนเริ่มโครงการ ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกร แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ใน 5 หัวข้อ คือ 1.การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2.การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3.การบริหารจัดการหนี้ 4.การออม และ 5.การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที จากการดำเนินโครงการช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีมีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20
นอกจากนี้ ยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมถึงร้อยละ 80 ที่สำคัญคือ เกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน หลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายและออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้”
ด้าน ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลคุณภาพ พรีเมียมจากวัตถุดิบอ้อย บริษัทฯ มุ่งสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเราได้คัดเลือกพนักงานจากเพชรบูรณ์ 19 คน และอุทัยธานี 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรจากสถาบันคีนันแห่งเอเซีย โดยมุ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกลุ่มนี้ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้วในการค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยปรับพฤติกรรมด้านการบริหารการเงินในครัวเรือนและการทำธุรกิจไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง
“เรายังได้นำโครงการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรายได้ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่แล้วและตอบโจทย์เข้ามาเสริม คือ การทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาผนวกกับความรู้ด้านการบริหารการเงินที่เกษตรกรได้รับ ก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีชาวไร่อ้อยมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”
นางสาวณัฐวรรณ ทองเกล็ด (แหม่ม) หนึ่งในสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่วัย 37 ปีจากเพชรบูรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า ก่อนหน้านี้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเมื่อมีปัญหาเข้ามาหรือไร่อ้อยเสียหาย ก็ไม่มีแผนหรือรายได้สำรอง หลังเข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้นำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงานและการเงินของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น รู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเยอะเกินความจำเป็น หรือไม่จำเป็น และปรับลดได้ถูกจุด
“นอกจากนี้ ตนเองเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเราลดความต้องการลง มองเห็นว่าตัวเองกำลังอยู่จุดไหน ทำอะไร ปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”
ประเมินสุขภาพทางการเงินของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยเจ้าหน้าที่สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง
กำลังโหลดความคิดเห็น