xs
xsm
sm
md
lg

3 แกนหลัก เดินหน้ากระบวนพัฒนาไบโอพลาสติก หนุนรัฐใช้นโยบายภาษีส่งเสริมห้างฯ นำร่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากซ้าย : กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย, อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง สร้างกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
วอนรัฐใช้นโยบายส่งเสริมด้านการตลาดไบโอพลาสติกเหมือนยุโรป ให้ห้างฯ ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ ด้วยการให้ลดหย่อนภาษี ล่าสุด 3 แกนนำเอกชนเดินหน้างานวิจัยรูปแบบสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งเสริมการตลาด ระบุหากเกิดขึ้นครบวงจร ไทยจะกลายเป็นฮับแห่งที่สองของโลกแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ผนึกกำลัง สถาบันพลาสติก และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ร่วมลงนาม “โครงการความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก” เพื่อจัดการการเรียนรู้และพัฒนานักออกแบบให้เข้าใจกระบวนการผลิตพลาสติก หวังลดการใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุไบโอพลาสติกพร้อมจูงใจให้ผู้ประกอบการโรงงานพลาสติกร่วมเสริมสร้าง ตอบรับกระแสโลกธุรกิจสีเขียว
ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งเป็นการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน เพราะทำให้เกิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งนำไปสู่การทำงานร่วมกันของนักออกแบบและนักวิจัยในสาขาต่างๆ เพื่อค้นหาแนวทางที่เป็นไปได้จริงสำหรับการผลิตจากต้นแบบและวัสดุต่างๆ
ปัจจุบันเทรนด์ของโลกมุ่งไปที่การสร้างสรรค์นวตกรรมของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จุดขายของไบโอพลาสติกนั้นอยู่ที่ความสามารถในการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตภาคการผลิตจะต้องมีส่วนรับผิดชอบสำหรับการกำจัดสิ่งที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมที่ตนเองผลิต ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล หากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องเสียค่าการจัดการต่าง ๆ ก็จะลดต้นทุนได้มาก
ในอนาคตเม็ดพลาสติกที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นปิโตรเคมีจะหมดไปแน่นอน ตามปริมาณน้ำมันที่ลดลงทุกขณะ อย่างเช่นธุรกิจเสื้อผ้าสิ่งทอในปัจจุบันก็ต้องแสวงหาวัตถุดิบทดแทน เช่น กลุ่มพืช ซึ่งสามารถปลูกทดแทนได้
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบ เนื่องจากในการผลิตเม็ดไบโอพลาสติก สามารถผลิตได้จากพืชที่มีแป้ง ซึ่งในไทยมีพืชเกษตรทั้งกลุ่มอยู่แล้ว คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย โดยเล็งว่า มันสำปะหลังจะเป็นวัตถุดิบสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีผลผลิตมันสำปะหลังได้ 27 ล้านตัน/ปี หากต้องการผลิตไบโอพลาสติกให้ได้ 100,000 ตัน/ปีตามสเกลโรงงานที่วางแผนไว้ จะใช้ปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลังเพียง 1 ล้านตัน เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกรอีกทางด้วย
“ไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีการลงทุนร่วมกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ เช่น Mitsubishi Chemical ลงทุนร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิต Bio Succinic Acid (BSA) และ PBS จากน้ำตาล เป็นต้น”
ปัจจุบันเม็ดไบโอพลาสติกมีแหล่งผลิตเพียงแห่งเดียวโดยบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จำกัด จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากสามารถตั้งโรงงานได้ไทยจะเป็นฮับของไบโอพลาสติกของเอเชีย (Bioplastics Hub) และเป็นฮับแห่งที่สองของโลก
นอกจากนี้ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้มีการขอขยายพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดชลบุรี และระยอง ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ที่เป็นแหล่งการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อให้การลงทุนเกิดใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งที่ประชุมได้รับพิจารณาที่จะเพิ่มพื้นที่ให้ เช่น ในจังหวัด ภาคกลางตอนบน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยและมันสำปะหลังจำนวนมาก ในส่วนนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เห็นด้วย เพราะหากขยายพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนออกไปได้ ไม่ได้มีเพียงคลัสเตอร์ปิโตรเคมีจะลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีคลัสเตอร์อื่นๆ ที่พร้อมจะไปลงทุนด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น บีโอไอ รับไปพิจารณา พร้อมทั้ง เร่งรัดมาตรการในการสร้างตลาดของอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะการส่งเสริมใช้ไบโอพลาสติก ที่จะนำมาตรการด้านภาษีมาใช้ สำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์มาหักลดค่าใช้จ่ายได้ 300 % ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมสรรพากร ก็ได้แจ้งแล้วว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด และจะต้องหาหน่วยงานกำกับดูแลสินค้า เพื่อมาพิสูจน์ว่าเป็นไบโอพลาสติกหรือไม่ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้มีการทบทวนกฎระเบียบในการปล่อยมลพิษนั้น ได้มีการมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่คาดว่าในเร็วๆ นี้ น่าจะได้ข้อยุติ
ด้าน กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ส่งผลต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก ) เนื่องจากราคาที่สูงกว่าพลาสติกทั่วไปร้อยละ 30 การไปแข่งขันจึงเป็นไปได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลักดันอุตสาหกรรมนี้สามารถเกิดประโยชน์ต่อเนื่องในระยะยาว โดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย อีกทั้งแนวโน้มตลาดโลกมุ่งความนิยมในการเข้าร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น
จึงเห็นว่าทางรัฐบาลไทย ควรเร่งหาวิธีการส่งเสริมทั้งแนวทางผลิตและตลาด และควรออกมาตรการบังคับเช่นเดียวกับยุโรป สหรัฐและออสเตรเลีย เพื่อให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องมีสัดส่วนของพลาสติกชีวภาพด้วย ในขณะเดียวกันควรใช้นโยบายการหักลดหย่อนภาษีมาส่งเสริม เช่น ให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ หันมาใช้ถุงไบโอพลาสติกแทนก็จะทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นได้จริงทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับกำลังผลิตไบโอพลาสติก 2557 ของโลกมีประมาณ 1.7 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7.85 ล้านคันในปี 2562 กำลังผลิตส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย วัตถุดิบมาจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งในประเทศไทย ภาครัฐกับภาคเอกชนกำลังร่วมมือกันส่งเสริมตามแผนให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ (Bioplastics Hub) คาดจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่ 1.05 แสนล้านบาท วัตถุดิบมาจากการปลูกอ้อยเพื่ออุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งวัตถุดิบเพื่อการบริโภค มีทั้งส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิง,เคมีชีวภาพ ,และพลาสติกชีวภาพ คาดจะมีการจ้างงานใหม่ 8.65 หมื่นคน ,สร้างรายได้ 1.208 แสนล้านบาท/ปี สร้างมูลค่าเพิ่ม 7.3 หมื่นล้านบาท/ปี ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.1 ล้านตัน/ปี
ขณะเดียวกัน อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวย้ำถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของนักออกแบบและนักวิจัยในสาขาต่างๆ เพื่อค้นหาไอเดียการวิจัยผู้บริโภคและการ หาความเป็นไปได้ในการผลิตจากต้นแบบและวัสดุต่างๆ
พลาสติกนอกจากเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัสดุที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้เวลานานถึง 450 ปีกว่าจะย่อยสลาย ก่อให้เกิดปัญหาในการกำจัดขยะพลาสติก ดังนั้น การลดปริมาณการใช้พลาสติกและการใช้พลาสติกชีวภาพทดแทนพลาสติกทั่วไปนั้น จำต้องมีการปรับกระบวนการคิดและการผลิตแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งาน และความต้องการของตลาดในระยะยาว

ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ต้องสร้างคุณค่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น