xs
xsm
sm
md
lg

ใช้โดรนสำรวจลุ่มน้ำสาขาลำภาชี พบแห้งแล้งที่สุดในรอบสิบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดรน นอกจากสำรวจได้สะดวก เพราะใช้ GPS ที่ช่วยกำหนดพิกัดพื้นที่ ทำให้โดรนถ่ายแบบอัตโนมัติ
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการส่งเสริมการจัดการน้ำในภาวะวิกฤตโดยรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ (ECOSWat) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมลงสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาลำภาชี โดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณแม่น้ำลำภาชี บ้านท่าอีปะ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
โอภาส ถาวร ผู้อำนวยการส่วนสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 กล่าวถึงบริเวณลำน้ำภาชีมักเกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ว่าในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำไหลลงมาท่วม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกปี ขณะที่ฤดูแล้งก็จะไม่มีน้ำ เพราะพื้นที่เป็นที่ลาดชัน ปัญหาก็คือ น้ำที่ถูกทิ้งจะเอาไปทางไหน แล้วน้ำที่มีอยู่จะกักเก็บกันอย่างไร เราจึงใช้โดรนมาสำรวจลุ่มน้ำสาขาลำภาชีเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง และศึกษาพื้นที่สร้างแหล่งกักเก็บน้ำแก้มลิง”
ขณะที่ จารุวรรณ งามสิงห์ เจ้าหน้าที่โครงการฯ ของ GIZ กล่าวเสริมว่า “โครงการฯ เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-เยอรมัน ที่ต้องการนำเอาระบบนิเวศมาจัดการน้ำ โดยอิงประสบการณ์จากประเทศเยอรมนี ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง และลงทุนเป็นพันล้านเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในการแก้ปัญหา แต่ปัญหายังคงมีอยู่ จึงได้ข้อสรุปว่า การหันมาพึ่งพาธรรมชาติ น่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยโครงการฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาสำรวจลุ่มน้ำลำภาชีว่าต้นตอของน้ำท่วมและน้ำแล้งเกิดจากอะไร และจะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับใช้ในหน้าแล้ง และชะลอความเร็วของน้ำ ในภาวะน้ำหลากได้หรือไม่ พร้อมทั้งยังให้คำแนะนำในการใช้โดรน มาสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ออกมาเป็นภาพถ่ายจำลองสามมิติ ให้เห็นสภาพภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำว่าหากน้ำท่วม ปริมาณน้ำจะสูงแค่ไหน และหากน้ำแล้ง น้ำที่เก็บได้จะได้ปริมาณสักเท่าไหร่ โดยลุ่มน้ำสาขาลำภาชี ถูกยกมาเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต่างด้านสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง จึงเหมาะสมที่โครงการฯ จะนำมาสำรวจและร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด”


โชว์ภาพการสำรวจความแห้งแล้งของลุ่มน้ำสาขาลำภาชี
ภายหลังการรับฟังความเป็นมาของโครงการฯ อาจารย์สุธีระ ทองขาว สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ได้สาธิตการใช้ Drone เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยอธิบายว่า “เนื่องจากภาพถ่ายทางอากาศ ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งถ้าสำรวจในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่ จะสิ้นเปลืองมาก โดรนจึงเป็นคำตอบในการใช้บินถ่าย เพื่อสำรวจเบื้องต้นว่าพื้นที่เป็นอย่างไร เช่น หากเราต้องการสำรวจแนวคลอง ภาพถ่ายอากาศไม่สามารถลงต่ำมา 50 เมตร 100 เมตรได้ แต่โดรนลงต่ำได้ให้เห็นความละเอียดเชิงลึกที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ การกัดเซาะความลึกของลำน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของตะกอนท้องน้ำของแม่น้ำลำภาชี”

“ตัวโดรนประกอบด้วยชุดมอเตอร์ที่ใช้บิน สมองกลใช้ควบคุมการบิน และตัวที่สำคัญที่สุดคือ GPS ที่จะช่วยกำหนดพิกัดพื้นที่ ให้โดรนสามารถบินถ่ายแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีใบพัด กล่องใส่กล้องที่ใช้ถ่าย ซอฟแวร์ที่จะใช้วางแผนการบิน และคอยส่งข้อมูล ให้บินตามเส้นทางที่กำหนดและถ่ายข้อมูลออกมาด้วยภาพ เทคนิคของโดรน คือ การนำเอาภาพที่ถ่ายหลายๆ ชอต มารวมกันเป็นผืนใหญ่ โดยใช้กล้องที่สามารถกำหนดให้ถ่ายทุกช่วงเวลา ส่วนของเราที่ใช้จะตั้งค่าให้บินหกเมตรต่อวินาที นั่นคือ ทุกๆ หกเมตร จะถ่ายภาพ โดยมีซอฟแวร์ที่ใช้โฟโตแกรมให้ภาพซ้อนทับกัน และประมวลผลออกมาเป็นแบบจำลองสามมิติ”

ในมุมมองของ นวล บัวทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านท่าอีปะ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำย่อยลำภาชี กล่าวเสริมว่า “ปัญหาที่หนักที่สุดตอนนี้ คือ ปัญหาเรื่องน้ำ แล้งมากที่สุดในรอบสิบปีก็ว่าได้ เกษตรกรต้องใช้น้ำในการปลูกพืชผัก เช่น อ้อย ต้นหอม ถ้าโครงการฯ มาช่วยให้มีแหล่งกักเก็บน้ำก็น่าจะดี เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น ตอนนี้เรามีบ่อบาดาลประมาณ 10 กว่าบ่อ และขุดจากคลองมาใช้ด้วย แต่หน้าแล้งปีนี้ คิดว่าน้ำที่มีอยู่คงไม่เพียงพอ เพราะผักที่เราปลูก ต้องใช้น้ำตลอด ถ้าน้ำหมด ก็จบกัน”
จากการสำรวจเบื้องต้นครั้งนี้ มุ่งหวังให้ผลการสำรวจสามารถนำไปต่อยอดเป็นการดำเนินงานขั้นต่อไป โดยโครงการฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ คาดจะทำแผนงานและงบประมาณไปเสนอรัฐบาล ให้เป็นแผนเร่งด่วนสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำย่อยลำภาชี และเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ ให้แก่พื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น