xs
xsm
sm
md
lg

“อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง ในปี 2560

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” จุฬาฯ ได้พัฒนาที่ดินประมาณ 29 ไร่ บริเวณสวนหลวง - สามย่าน ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา ในปี 2560 ภายใต้แนวคิด “สืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สรรสร้างสู่ความยั่งยืน” เพื่อจะเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่มอบให้สังคม
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ รศ.จามรี  อาระยานิมิตสกุล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ศิลปชัย วัชระ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ร่วมแถลงจัดงาน “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม” เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ร่มรื่น โดยในปี 2015 จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric World University Ranking ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของไทย อันดับ 30 ของโลก และในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก้าวสู่ 100 ปีแห่งการสถาปนา “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” จะสร้างขึ้นให้เป็นของขวัญชิ้นสำคัญเพื่อมอบให้แก่ประชาชนและสังคมไทย เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่นอกจากจะเป็นปอดแห่งใหม่ให้กับกรุงเทพฯ แล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย
อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ได้พัฒนาที่ดินประมาณ 29 ไร่ บริเวณสวนหลวง - สามย่าน โดยเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่แนวแกนสีเขียวตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย จากหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งเป็นแกนทางทิศตะวันออก ต่อเนื่องลงสู่แกนทางทิศตะวันตก ในเขตพื้นที่พาณิชย์ของมหาวิทยาลัยบริเวณสวนหลวง สามย่าน เป้าหมายของอุทยานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นปอดแห่งใหม่ ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ สามารถใช้พื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังมีถนนจุฬาฯ 100 ปี (เส้นทางจุฬาฯซอย 5) เชื่อมต่อระหว่างถนนพระราม 1- พระราม 4 รูปแบบถนนที่ส่งเสริมให้รถขับช้า (Slow Traffic) เอื้อต่อการเดินเท้า ขี่จักรยาน และการใช้รถโดยสารขนส่งมวลชน ตามแผนงานการก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ตั้งเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จเมื่อจุฬาฯ ครบ 100 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม 2560
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นทำหน้าที่เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ทั้งในด้านการให้ความรู้ทางวิชาการแก่สังคม เมื่อสังคมมีปัญหาเผชิญภาวะวิกฤต จุฬาฯ มีคำตอบ และการสร้างชื่อเสียงความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ บุคลากร นิสิตจุฬาฯ และนิสิตเก่า” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ
รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นที่ดินพระราชทาน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานที่ดินแห่งนี้ให้เป็นที่แห่งการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ตอบแทนสู่สังคม และเพื่อให้เป็นไปตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “เกื้อกูล” ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม
รศ.จามรี  อาระยานิมิตสกุล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.จามรี อาระยานิมิตสกุล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า อุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นพื้นที่สีเขียวบริเวณจุฬาฯ ซอย 9 จรดถนนบรรทัดทอง ซึ่งเชื่อมต่อแนวแกนสีเขียวตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย ส่วนประกอบของอุทยานจุฬาฯ 100 ปีจะมีอาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรม มีห้องเรียนรูปแบบต่างๆ และมีพื้นที่จอดรถ ด้านบนของอาคารจะสร้างตามแนวคิด “หลังคาเขียว” ที่กลมกลืนกับสวน ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามและช่วยลดความร้อน อุทยานแห่งนี้จะมีการกักเก็บน้ำฝน เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” เพื่อนำน้ำฝนและน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ ส่งเสริมระบบนิเวศในเมือง สำหรับแนวคิดในเรื่องต้นไม้บนพื้นที่ 29 ไร่ จะมีการปลูกพืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิด ด้วยแนวคิด “ป่าไม้ในเมือง” เป็นต้นไม้ขนาดเล็กทั้งไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ไม้น้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีถนนจุฬาฯ 100 ปี ที่ ร่มรื่นด้วยพืชพื้นถิ่นที่หลากหลายตลอดแนวถนน มีการระบายน้ำฝนลงร่องระบายน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ศิลปชัย วัชระ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
ด้าน ศิลปชัย วัชระ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ กล่าวว่า สมาคมนิสิตเก่า จุฬาฯ มีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 100 แห่งการสถาปนาจุฬาฯ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯได้หารือกับสมาคมนิสิตเก่าคณะต่างๆและนิสิตเก่าจากทุกภูมิภาคในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว ที่ผ่านมาสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้จัดกิจกรรม “สนจ.พบสื่อมวลชน” โดยเชิญนิสิตเก่าที่มีบทบาทสำคัญในสื่อต่างๆมาร่วมระดมสมองปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของจุฬาฯ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และเผยแพร่กิจกรรมที่จะจัดขึ้นในโอกาสที่จุฬาฯจะครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่แสดงถึงบทบาทของจุฬาฯกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น