xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบี ชวนเดินป่าสันลมจอย เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครมาเที่ยว ที่นี่มีมัคคุเทศน์น้อยบริการแนะนำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “บ้านสันลมจอย”ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างอาสาสมัครทีเอ็มบี ชุมชนบ้านสันลมจอย เทศบาลตำบลสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ชมรมอนุรักษ์ป่าไม้และนก จ.เชียงใหม่ ด้วยกิจกรรม “ปลูก เปลี่ยน ป่า พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน”
ซึ่งเป็นการปรับปรุงผืนป่าที่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 8 กิโลเมตร ให้เป็นเส้นทางเดินป่า เพื่อศึกษาธรรมชาติ (Trail) ทำป้ายข้อมูลเส้นทางเดินป่า พร้อมสร้างอาชีพมัคคุเทศก์น้อย แห่งบ้านสันลมจอย ให้ความรู้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บ้านสันลมจอย อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
ทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านสันลมจอยทำให้ผู้เดินได้สัมผัสและเรียนรู้ระบบนิเวศของป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง อันเป็นกลุ่มป่าประเภทใหญ่ที่สามารถพบได้มากบนดอยสุเทพฯ ระบบนิเวศป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง เป็นระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นกลุ่มป่าที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับมนุษย์ที่รู้จักใช้ไฟ เพราะป่านี้เป็นป่าผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติ ให้เหลือเพียงพรรณไม้ที่สามารถทานทนไฟป่าได้ ส่วนสัตว์ที่พบในป่านี้ ส่วนใหญ่ก็สามารถหลบหลีกภัยอันตรายจากไฟป่าได้หากไม่ลุกลามมาก แต่หากเราสามารถมองย้อนกลับไปในอดีต ไปยังยุคสมัยที่มนุษย์มีประชากรน้อยกว่านี้ผืนป่าที่วางตัวอยู่ตรงหน้านี้จะเปลี่ยนไปเป็นป่าดิบแล้งที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่า
แผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติสันลมจอย สนับสนุนโดยทีเอ็มบี
เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านสันลมจอย ระยะทาง 2 กิโลเมตร ระยะเวลาการเดิน 1.5-2 ชั่วโมง แบ่งเป็น 9 จุดศึกษา ได้แก่
1. ร่องรอยจากอดีต ผืนป่าตรงหน้านี้ ในอดีตเป็นผืนป่าที่เขียวครึ้มอุดมสมบูรณ์ แต่หลังผ่านอุตสาหกรรมการทำไม้และการใช้ประโยชน์ของป่าไม้มาอย่างยาวนาน เหลือร่องรอยเพียงภาพอดีตของความอุดมสมบูรณ์คือตอไม้สักขนาดใหญ่
2. ดงตะแบก จะเห็นการปรับตัวของป่ากับไฟ เมื่อมองไปรอบๆ ตัว มีกลุ่มต้นไม้ที่มีเปลือกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งหลุดลอกออกเป็นแว่นๆ มองเห็นลำต้นเป็นลายกระสีขาวดูแปลกตาคือต้นตะแบก (Lagerstroemia sp.) หนึ่งในพันธุ์ไม้ในป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณพบได้บ่อยทางภาคเหนือ ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้เด่น 5 ชนิด ได้แก่ ไม้สัก มะค่า แดง ประดู่ และชิงชัน นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้อื่นๆ ตามภูมิภาคและสภาพแวดล้อม เช่น ในป่านี้จะพบ เสลา มะกอก พะยอม สัก ยมหิน ส้าน มะค่าโมง และรกฟ้า เป็นต้น ป่าเบญจพรรณนี้เป็นป่าที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก ในอดีตเราใช้ประโยชน์จากป่า ทั้งใช้สร้างบ้านเรือน อาหารจากป่า สมุนไพรต่างๆ และเครื่องใช้ไม้สอย
3. ดงหินถิ่นกำเนิด เป็นดงหินแกรนิตเกิดจากแมกม่าที่แทรกดันภูเขาไฟเมื่อโบราณกาล หินแกรนิตเป็นองค์ประกอบหลักของเปลือกโลก สำหรับที่นี่หลังจากผ่านลมและฝนประกอบกับรากของพืชชั้นต่ำคือมอสและไลเคน ทำให้หินค่อยๆ แตกสลายกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของดิน
4. ทักทายจอมปลวก ปลวกเป็นแมลงที่สำคัญเปรียบเป็นเทศบาลในป่า ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในฤดูแล้ง ต้นไม้จะลดการคายน้ำจากอากาศที่ร้อนระอุด้วยการผลัดใบทิ้งเหลือแต่กิ่งก้าน ใบไม้ปริมาณมหาศาลเหล่านี้ หากปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ จะต้องใช้เวลายาวนาน และเป็นแหล่งเชื้อไฟให้เกิดไฟป่าสามารถลุกโชนเผาผลาญทุกชีวิตในป่า ปลวกจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะเร่งให้ใบไม้กิ่งไม้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์ที่ไม่ติดไฟ และยังเป็นสารอาหารกลับคืนให้ต้นไม้อีกครั้งหนึ่ง
5. ต้นไทรนักบุญแห่งป่า รากไม้ต่างๆ ที่สอดประสานเกี่ยวพันกันจนเป็นเหมือนร่างแห คอยโอบอุ้มดินไว้ไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำ รากของต้นไทรต้นใหญ่ช่วยยึดโยงแผ่นดินก้อนใหญ่ให้ลอยอยู่เหนือก้อนหิน
6. ผีปันน้ำ จุดนี้คือจุดที่อยู่สูงที่สุดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านสันลมจอย และสามารถพบกับความชุ่มชื้นมากที่สุดด้วย ในฤดูฝนผืนป่านี้จะปล่อยน้ำที่เหลือเก็บให้ไหลไปตามลำธาร ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะค่อยๆ ซับซึมออกมาจากดินและรากไม้ ก่อนไหลรินไปตามลำธารเพื่อหล่อเลี้ยงพืชพรรณและสรรพสัตว์ในผืนป่า ป่าที่จะเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ จะต้องเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ปราศจากการรบกวน
7. ดงไผ่ไม้สารพัดประโยชน์ ไผ่เป็นพรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์หญ้า (Poaceae) เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มักพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เคยถูกแผ้วถาง หรือบริเวณที่อยู่ใกล้น้ำ ไผ่เป็นไม้สารพัดประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยให้กับผู้คนในชุมชนโดยรอบป่าแห่งนี้
8.ลานหินยินเสียงพงไพร เสียงใสๆ ที่ได้ยิน มาจากนกนานาชนิด เช่น นกกางเขนดง ร้องเป็นทำนองเพลงสูงต่ำ นกโพระดก เสียงระรัวก้องดัง “หก-ป๊กๆ” นกปีกลายสก็อต เสียงแหบห้าวดัง “แครก” นกกะรางหัวหงอก ร้อง“เจ๊กโกหกๆ” นกจาบดินอกลาย ส่งเสียงร้องน่าขัน “ปวดท้องเยี่ยว” และนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ร้องก้องดัง “จ๊องๆ” กังวาน
9. น้ำแห่งชีวิต จุดศึกษาสุดท้ายของเส้นทาง เป็นอ่างเก็บกักน้ำ ที่รองรับน้ำจากลำธารเล็กๆ ด้านบน ในป่าที่กลั่นตัวมาจากรากไม้และผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ และหล่อเลี้ยงผู้คนโดยรอบ เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคของ 3 หมู่บ้าน
มาท่องเที่ยวที่นี่ แนะนำให้เดินช้าๆ เพื่อจะได้ชื่นชมธรรมชาติและทำความเข้าใจในปรัศนีของจุดศึกษาธรรมชาติ และจะต้องปฏิบัติตัวเองตามข้อปฏิบัติเข้าป่าอย่างเคร่งครัด คือ 1. ไม่เก็บของป่า ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ พื้นที่นี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 2.ไม่จุดไฟ ก่อไฟ หรือกระทำการใดอันมีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดไฟป่า และ3.ไม่ส่งเสียงดัง
กำลังโหลดความคิดเห็น