xs
xsm
sm
md
lg

มหิดล เดินหน้า “มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ” ในปี 2562

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ลงนามความร่วมมือ “โครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร” ณ บริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ขณะนี้การขับเคลื่อนเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green Campus ของ ม.มหิดล ยังดำเนินการให้เกิดรูปธรรมหลายๆ ด้าน และได้ขยายกรอบความคิดไปสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ที่ถือหลักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของไทยที่นำแนวคิดมหาวิทยาลัยสีเขียวมาใช้นานกว่า 6 ปี และในขณะนี้ยังดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าด้านภูมิทัศน์ ระบบสัญจร ระบบสาธารณูปโภค
ที่นี่เคยติดอันดับ UI Green Metric World University Ranking ในปี 2555 และ 2556 แม้ว่าปีที่แล้วทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แซงขึ้นไปรั้งผู้นำบ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว ม.มหิดลมีแนวทางขยับเป้าหมายสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) อย่างน่าสนใจ เช่น ความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ด้วยการจัดทำโครงการคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมในเชิงปริมาณ โดยผลที่ได้สามารถนำไปกำหนดแนวทางการบริหารจัดการซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมีประสิทธิภาพ
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร
“หลักสำคัญในการเป็น Eco University ก็คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ อย่างปัจจุบันปริมาณของรถยนต์ จักรยานยนต์เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการก่อสร้างมากขึ้นตามการขยายตัวของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นซึ่งล้วนทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงขึ้น” ศ.คลินิก น.พ.อุดม คชินทร อธิการบดี ม.มหิดล กล่าว และว่า
เพราะการลดใช้ทรัพยากรอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เราจึงปรับแนวคิดว่าทำอย่างไรให้มีการใช้ที่เกิดประโยชน์สูงสุด และปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
โครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ม.มหิดลได้เริ่มต้นจากคณะ หรือส่วนงานเพื่อให้เกิดเป็น Low Carbon Faculty เสียก่อนแล้วค่อยขยายสู่วิทยาเขต เป็น Green Campus จากทั้ง 6 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย พร้อมให้เป็น Eco University และเมื่อเชื่อมโยงไปยังชุมชนรอบข้าง และเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ก็จะเกิดเป็น Eco Town
ที่จริงแล้ว ม.มหิดลตระหนักเรื่องดังกล่าวมานาน ตั้งแต่ปี 2551 เราเริ่มจากการจัดทำพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการปลูกต้นไม้และปรับทัศนียภาพภายในมหาวิทยาลัย แต่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะหากต้องการลดปริมาณคาร์บอนอย่างยั่งยืนทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะลดใช้น้ำ ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าด้วย เราทำได้ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้าเราไม่เคยวัดผลจากสิ่งที่เราทำ การทำคาร์บอนฟุตพรินต์จึงช่วยยกระดับตัวเองมาอีกระดับหนึ่ง ต่อจากนั้นยังกระตุ้นให้เกิดการนำแนวคิดเรื่องนี้ไปใช้กับที่บ้าน ตลอดจนการขยายผลออกไปยังชุมชนรอบมหาวิทยาลัย
อธิการม.มหิดล กล่าวว่า ความท้าทายของการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ คือ แต่ละวิทยาเขตมีบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งอธิการบดี ม.มหิดล มองว่าจากวิทยาเขตศาลายา, พญาไท, บางกอกน้อย, กาญจนบุรี, อำนาจเจริญ และนครสวรรค์ วิทยาเขตที่ถือว่าดำเนินการได้ค่อนข้างยาก คือ วิทยาเขตบางกอกน้อย และพญาไท เพราะมีโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้การทำงานมีความซับซ้อน อย่างไรก็ดี เรามีกระบวนการที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้การทำคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นไปได้ง่ายขึ้น
“ปัจจุบันเราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยประมาณ 4% แต่ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 4 ปีข้างหน้า หรือ ภายในปี 2562 ต้องลดลง 7-10% ซึ่ง ม.มหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแรกของไทยที่มีการวัดผลแบบนี้ สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เพราะต่างประเทศมองว่า KPI หนึ่งของเรื่องความยั่งยืนคือลดก๊าซเรือนกระจก หากองค์กรไม่มีเรื่องนี้ เขาจะไม่นับว่าองค์กรนั้นๆ มีความยั่งยืน และไม่ใช่ยั่งยืนเฉพาะองค์กร แต่สร้างความยั่งยืนไปพร้อมกับสังคมรอบด้าน”
รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต
สำหรับแผนการดำเนินงานเรื่อง Eco University รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ม.มหิดลกล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ปี 2558-2562 โดยมี 3 กลยุทธ์สำคัญ เริ่มด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (Resources Efficiency) โดยจะให้ความสำคัญกับการลดปริมาณกากของเสีย เน้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการควบคุมอาคาร รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ยังมีกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (Community Engagement) ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และการศึกษา การวิจัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยสีเขียว ด้านความปลอดภัยและความเสี่ยง ตลอดจนการสนับสนุนโยบายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
"สิ่งที่กำลังจะทำคือ Organic Food ให้ชาวบ้านมาปลูกผักในมหาวิทยาลัย และมีนโยบายให้นักศึกษาปลูกผักเอง แล้วเราจะคุยกับร้านอาหารว่า ขอคิดค่าปรุงฟรีได้หรือไม่ เพื่อให้นักศึกษาได้กินของไม่มีสารพิษ เนื่องจากเรามีคณะเทคนิคการแพทย์และสถาบันโภชนาการที่สามารถเข้ามาช่วยตรวจวัดปริมาณสารเคมี เพื่อคนจะได้กินผักปลอดสารพิษ"
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ม.มหิดล มีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ธนาคารขยะรีไซเคิล, ปุ๋ยหมักชีวภาพ, แปลงผักปลอดสารพิษ, จักก้าเซ็นเตอร์และจักรยานสีขาว (จักรยานสาธารณะ), บริการขนส่งสาธารณะ (รถรางNGV), การงดใช้กล่องโฟมในพื้นที่มหาวิทยาลัย, การจัดระบบบำบัดน้ำเสียในทุกอาคาร เป็นต้น
"ผมมองว่าคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเราไปเวทีต่างประเทศ เราพูดว่ามหาวิทยาลัยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก แต่เรากลับไม่มีตัวชี้วัดให้เขาเห็น ซึ่งผลจากการทำคาร์บอนฟุตพรินต์จะบอกถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรมของมหิดล โดย 3-4 ปีนี้ ทางกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจะนำเรื่องนี้เข้าไปยังหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการสร้างมหิดลให้เกิดความยั่งยืน"
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 โดยใช้กลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ที่ประกอบด้วยกลยุทธ์ 3 ข้อ
1.กลยุทธ์การส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (Resources Efficiency)
2.กลยุทธ์การส่งเสริมเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
3.กลยุทธ์การส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (Community Engagement)
"ในหลายๆ ประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น ก็มีการตั้งผลสัมฤทธิ์ไว้ที่ 7% เช่นกัน ประกอบกับกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำขึ้น เช่น ธนาคารขยะรีไซเคิล, รถรางเอ็นจีวีรับ-ส่งทั่วมหาวิทยาลัย, โครงการจักรยานสาธารณะ, โรงผลิตปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ รวมไปถึงแปลงผักปลอดสารพิษ ก็เอื้อต่อการร่วมกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจะบรรลุผลที่ 7% จึงไม่น่ายากเกินไปสำหรับชาวมหิดล"

อีกหนึ่งกิจกรรมลดคาร์บอน “ม.มหิดล ลดใช้พลังงาน ชุมชนร่วมสืบสาน ปั่นจักรยานจิตอาสา”
จักรยาน เป็นพาหนะประจำของชาวมหิดลในวันนี้
และเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ม.มหิดลจัดกิจกรรม “ม.มหิดล ลดใช้พลังงาน ชุมชนร่วมสืบสาน ปั่นจักรยานจิตอาสา” ภายใต้ชื่อโครงการ Social Cycling : Eco town Salaya โดยมีชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมประมาณ 2,000 คัน หวังกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมความร่วมมือลดปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการออกกำลังกายโดยการใช้จักรยาน และยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องถิ่นด้วย
นายแพทย์พิทยา จารุพูนผล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ เล่าว่า กิจกรรมปั่นจักรยานสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนแนวคิด Green University ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองเป็น Eco-University และ Eco-Town ที่เน้นความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นจุดขาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กับชุมชน ด้วยเหตุนี้การใช้จักรยานเพื่อสุขภาพของคนในชุมชนศาลายาก่อให้เกิดอากาศปลอดคาร์บอน หรือ zero carbon ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของม.มหิดลและชุมชนศาลายาที่มุ่งหวังให้เป็นส่วนหนึ่งในการลดลงของคาร์บอน 7-10% ภายในปี 2562

"มหาวิทยาลัยระดับนานาชาติเขามองถึงการสร้างกรอบความคิดเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาก่อนออกไปทำงาน ในฐานะที่เราเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตเข้าสู่อุตสาหกรรม หากนักศึกษาไม่มีกรอบแนวคิดเรื่องนี้คงเป็นเรื่องลำบาก เราจึงวางแผนว่าจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ในวิชาพื้นฐาน รวมถึงการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่จะบอกว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร เมื่อเข้ามาแล้วควรปฏิบัติตนอย่างไรให้สอดคล้อง ทั้งต้องสร้างความตระหนักให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยชี้ให้รู้ว่าทุกกิจกรรมของคนล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น