เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ ได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและพันธมิตร ได้แก่ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) และ กู๊ดแฟคทอรี่ (Good Factory) จัดเวิร์คช็อปเป็นเวลา 5 วัน สอนการพัฒนาเว็บไซต์บนแพลตฟอร์ม ให้กับผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อป 30 ชีวิตที่ต่างได้เรียนรู้การเขียนโค้ดขั้นพื้นฐานและการนำอี-คอมเมิร์ซมาต่อยอดไอเดีย
ในตอนท้ายของการเวิร์คช็อปครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแต่ละคนต่างสามารถสร้างเว็บไซต์เพื่อโปรโมทธุรกิจหรือบริการของ ตัวเองได้ เช่น กรณีของธุรกิจแบบสตาร์ทอัพของ “อธิบดี ทีมสมาร์ทวีซี” สามารถสร้างเว็บไซต์ที่น่าสนใจและง่ายต่อการใช้งานแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาได้ มากขึ้น
“การฝึกเขียนโค้ดก็เหมือนการฝึกเล่นกีฬาหรือเครื่องดนตรี ที่ต้องการการฝึกฝน”
ศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว และว่า “ปัจจุบันชีวิตของคนเราได้ถูกหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยี การเรียนรู้การสร้างเว็บไซต์ที่ดึงดูดและน่าสนใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างผลกระทบในทางบวกแก่ประเทศ”
อธิบดี เขมะประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สมาร์ทวีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อายุเพียง 24 ปี แต่กลับมีวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์โซลูชั่นเพื่อจะช่วยให้การคมนาคมในกรุงเทพฯ ง่ายดายขึ้นและใช้เวลาน้อยลง เขาบอกว่า
“โดยส่วนตัว ผมมักจะพบกับความยากลำบากกับการเดินทางในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อมูลด้านการขนส่งมวลชนไม่เพียงพอ และนี่คือเหตุผลที่พวกเราพัฒนา “บีเคเค คอนเน็คท์ (BKK Connect)” แผนที่ขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐานเพื่อช่วยให้ผู้คนเดินทางได้อย่างปลอดภัยและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ด้าน ชลพรรษ จรัญพงษ์ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปอีกคน ซึ่งมีความสนใจด้านจิตวิทยาเป็นทุนเดิม จึงนำความรู้ด้านการสร้างเว็บไซต์ที่ได้มาสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อ ว่า “Happiness Project” เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงความสำคัญของความสุขและสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้น เธอกล่าวว่า
“การที่ผู้คนที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันมาพบเจอกัน เรียนรู้และทำงานเพื่อทำตามความฝันไปด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ผู้สอนและผู้ให้คำแนะนำในเวิร์คช็อปสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างมาก และพวกเขาก็สอนให้ฉันได้มองโลกดิจิตัลในมุมมองใหม่ๆ อีกด้วย”
ดังกล่าวเป็นกลุ่มหนึ่งในผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสังคมที่สังคมกำลังเผชิญ โดยที่ผู้ประกอบเพื่อสังคมเองก็มีความต้องการที่จะเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยี อย่างเช่น การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองให้เท่าทันความต้องการในยุคดิจิทัล