xs
xsm
sm
md
lg

วงการจักรยานตื่นตัว ผลักดันปั่นปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นีโอ ร่วมกับพันธมิตรวงการธุรกิจจักรยานจัดสัมมนาวิชาการเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักปั่นเรื่อง “ปั่น (อย่างไร) ให้ปลอดภัย”
เมื่อเร็วๆ นี้ นีโอจับมือพันธมิตรวงการธุรกิจจักรยานจัดสัมมนาวิชาการเชิงสร้างสรรค์ “ปั่น(อย่างไร)ให้ปลอดภัย” รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ ให้ความรู้และวิธีปฏิบัติเมื่อประสบเหตุ ระดมหลายส่วนทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจักรยาน ตัวแทนนักปั่น โรงพยาบาล และบริษัทประกันภัย ให้ข้อมูลความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เตรียมจัดตั้งเครือข่ายกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุจักรยานบนท้องถนน
นีโอ ร่วมกับ พันธมิตรวงการธุรกิจจักรยาน จัดสัมมนาวิชาการเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักปั่นเรื่อง “ปั่น(อย่างไร)ให้ปลอดภัย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้เกิดการป้องกันอุบัติเหตุจักรยานเบื้องต้นด้วยตนเอง รวมถึงการให้ความรู้และวิธีปฎิบัติเมื่อประสบอุบัติเหตุจักรยาน สิทธิพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้ใช้จักรยานควรทราบเมื่อประสบอุบัติเหตุ โดยมีทั้ง ถนนเป็นวาระต่อไป

อาทิตย์ สองจันทึก ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือนีโอ ในฐานะผู้จัดงาน อินเตอร์เนชันแนล บางกอกไบค์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้จักรยานราว 3 ล้านคน เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2556 ซึ่งมีเพียง 2.25 ล้านคน สืบเนื่องจากกระแสการใส่ใจในสุขภาพ การจัดกิจกรรมทางการตลาดของภาคเอกชน รวมถึงนโยบายการสนับสนุนการใช้จักรยานจากภาครัฐ
จากจำนวนนักปั่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ประกอบกับอุบัติเหตุที่เกิดกับนักปั่นจักรยานบนท้องถนนซึ่งร้ายแรงถึงชีวิต ได้ก่อให้เกิดธุรกิจการให้บริการด้านสถานที่และสนามปั่นจักรยานที่มีความปลอดภัยตามมา ชี้ให้เห็นว่า นักปั่นจักรยานต้องการสถานที่ในการปั่นจักรยานที่มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องหันกลับมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ในการปั่นจักรยานอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ใช้จักรยานตระหนักถึงการป้องกันอุบัติเหตุจักรยานเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพื่อลดปัญหาและอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ร่วมกับ พันธมิตรในวงการธุรกิจจักรยาน จัดสัมมนาวิชาการเชิงสร้างสรรค์เรื่อง “ปั่น (อย่างไร) ให้ปลอดภัย” โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้จักรยานโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเริ่มต้นจากตัวผู้ใช้จักรยานเอง เช่น การปฏิบัติตัวก่อนการปั่น วิธีการปั่นที่ถูกต้องและปลอดภัย วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อประสบอุบัติเหตุ รวมถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ที่นักปั่นควรทราบเมื่อประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดตั้งเครือข่ายกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุจักรยานบนท้องถนน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ใช้จักรยานที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมในลำดับต่อไปอีกด้วย

ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการทำวิจัยจักรยาน วิทยากรร่วมสัมมนา ให้ข้อมูลว่า อุบัติเหตุจักรยานที่พบบ่อย เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถบนท้องถนนที่ขาดความเข้าใจต่อผู้ใช้จักรยาน ขณะที่ตัวผู้ใช้จักรยานเองไม่ระมัดระวังได้มากพอ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการปั่นอย่างปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุจักรยานได้ในบางส่วน เช่น การผลักดันนโยบาย การจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการป้องกันอุบัติเหตุทางจักรยานเบื้องต้นด้วยตัวเราเอง เช่น การติดอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย การให้สัญญาณมือในการเปลี่ยนช่องทาง เป็นต้น นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงถนนสายหลักโดยหันมาใช้ถนนสายรองในการเดินทาง
จันทนา ติยวัชรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนผู้ให้ข้อมูลจากภาคธุรกิจจักรยาน แสดงความเห็นว่า ในด้านความปลอดภัยของจักรยาน ถือว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในการผลิตจักรยานที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น มาตรฐาน EN สำหรับประเทศยุโรป มาตรฐาน CSSIA ของทวีปอเมริกาเหนือ มาตรฐาน JIS ของญี่ปุ่นฯลฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่ แอล เอ ต้องปฏิบัติตามเพื่อส่งออกจักรยานไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ
สำหรับกระแสการเติบโตของจำนวนนักปั่นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3 -5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการปฏิวัติวงการจักรยานของประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาใส่ใจในวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นักปั่นในปัจจุบันยังให้ความสำคัญเรื่องอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่างๆ มากขึ้น เช่น การนำเข้าหมวกนิรภัยมาจัดจำหน่าย ซึ่งเมื่อ 15 ปีก่อน จะไม่สามารถจำหน่ายได้เลยเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน และนักปั่นยังไม่เห็นความสำคัญของหมวกนิรภัย ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่นักปั่นทราบว่าหมวกนิรภัยสามารถลดอาการบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุจักรยานได้จริงๆ

ภูวิพัฒน์ อภิโชติชัยวิชญ์ ตัวแทนนักปั่น กลุ่ม 1000 Trip Night Ride กลุ่มจักรยานชื่อดังในโลก Social Network ที่รวมตัวกันมาแล้วกว่า 2 ปี และมีสมาชิกกว่า 1,000 คน มีกิจกรรมการปั่นจักรยานในยามค่ำคืน ทั่วกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นว่า การลดอุบัติเหตุจักรยานสามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น กลุ่ม 1000 Trip Night Ride มีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อความปลอดภัยของนักปั่น เช่น ข้อบังคับเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี คือ หมวกนิรภัย ถุงมือ ไฟหน้า ไฟท้าย กระดิ่ง ยารักษาโรคสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว และอุปกรณ์ซ่อมแซมจักรยานเบื้องต้น
ประการสำคัญ ก่อนออกทริปทุกครั้ง ทีมงานจะมีการชี้แจงเส้นทางที่จะใช้ปั่น รวมถึงการเน้นย้ำกฎระเบียบ และวินัยจราจร การสอนให้สมาชิกใช้สัญญาณมือระหว่างกัน การเน้นย้ำให้ปั่นชิดขอบทางด้านซ้าย การปั่นเรียง 1 การห้ามขึ้นฟุตบาท และห้ามฝ่าสัญญานไฟจราจรโดยเด็ดขาด ทำให้ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา กิจกรรมการปั่นจักรยานของกลุ่ม1000 Trip Night Ride ไม่เคยประสบอุบัติเหตุจักรยานใดๆ เลย

นอกจากนี้ ตัวแทนจากโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ยังเข้าร่วมให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับนักปั่น เช่น การห้ามเลือด การเข้าเฝือกชั่วคราวโดยใช้อวัยวะของผู้บาดเจ็บเอง และยังแนะนำให้จดจำศูนย์ความปลอดภัยทางคมนาคมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งจะเรียกรถฉุกเฉินได้ในเวลาเพียง 5-10 นาที เท่านั้น
สำหรับสิทธิพื้นฐานเมื่อประสบอุบัติเหตุจักรยานบนท้องถนน บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด(มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ผู้บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ทันที โดยมีวงเงินสำหรับการรักษาอาการบาดเจ็บเบื้องต้น 30,000 บาท หากสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิตรับเพิ่มอีก 35,000 บาท หากเกิดกรณีถูกเฉี่ยวชนแล้วหนี ผู้บาดเจ็บยังคงสามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัยภัย (คปภ.) ซึ่งมีกองทุนทดแทนกรณีดังกล่าวได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น