xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้า อนุรักษ์ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” แคมเปญฮอต change.org

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้ความจริง! กรมราชทัณฑ์สัญญาเก็บพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงพร้อมกำหนดพื้นที่ฟื้นฟูรองรับการย้ายพันธุ์ไม้จากพื้นที่ก่อสร้างเรือนจำ - ขอบคุณทุกพลังสนับสนุน!
คนอนุรักษ์ : facebook.com/khonanurak ได้โพสต์อัพเดท (เมื่อ 22 มิ.ย.2558) พร้อมเล่าถึงที่มาของการเรียกร้องเพื่ออนุรํกษ์ว่า
ตามที่ตัวแทนกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ประกอบด้วยมูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กลุ่ม Siamensis และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเทศไทย ได้ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ลงตรวจสอบพื้นที่สถานที่ก่อสร้างเรือนจำสุราษฏร์ธานีแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ Nepenthes suratensis พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่พบที่เดียวในโลก ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปร่วมกันต่อไปนี้

1) ความจำเป็นในการก่อสร้าง: ทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพและแก้ไขความแออัดขั้นวิกฤติของนักโทษในเรือนจำสุราษฏร์ธานีในปัจจุบัน

2) มาตรการอนุรักษ์: เรือนจำสุราษฏร์ธานีได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นจำนวน 2 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงประมาณ 100 ต้น และได้กำหนดพื้นที่ฟื้นฟูป่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์อีก 40 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับการย้ายต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง

3) ขั้นตอนการย้าย: ดำเนินการโดยความร่วมมือของนักวิจัยหลายฝ่ายโดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีเป็นผู้ประสานงานหลัก โดยจะทำการ 3.1) ตัดยอดชำ 3.2) เก็บเมล็ด ซึ่งมีการเก็บ/เพาะ นอกแหล่งอาศัยไปได้แล้วพอสมควรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 3.3) ล้อมขุดเหง้าต้นที่ตัดชำย้ายไปลงพื้นที่ใหม่

4) ช่วงเวลาดำเนินการ: เดิมมีการเตรียมการขุดย้ายต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในส่วนที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับแผนเร่งดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกเพื่อให้ต้นแม่มีโอกาสรอดมากที่สุด และแก้ปัญหาต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เหลืออยู่ถูกลักลอบขุดจากนักสะสมพันธุ์ไม้

5) แนวทางการอนุรักษ์ในระยะยาว: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จะได้มีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับเรือนจำสุราษฎร์ธานีเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและติดตามผลการอนุรักษ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตมีแผนการที่จะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชุมชนและเยาวชนโดยทั่วไป

ทางกลุ่มตัวแทนอนุรักษ์ได้แสดงความชื่นชมกรมราชทัณฑ์ รวมถึงหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมูลนิธิเพื่อการศึกษาและวิจัยหม้อข้าวหม้อแกงลิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Nepenthes Study & Research Foundation: SEANSRF) ที่ให้ความสำคัญ และเตรียมมาตรการรองรับในการอนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่าเฉพาะถิ่นของประเทศไทยชนิดนี้ให้คงอยู่สืบไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการขุดย้ายจะดำเนินการไปด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะจัดทำข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์ระบบนิเวศโดยรวมอีกครั้ง เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าระบบนิเวศทุ่งพรุ ที่เป็นแหล่งอาศัยของหม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าและมีพันธุ์ไม้น่าสนใจหลายชนิด หากเป็นไปได้อยากให้แนวทางการอนุรักษ์ในอนาคตพิจารณาปรับปรุงในบริเวณสวนป่าให้มีความใกล้เคียงกับระบบนิเวศดั้งเดิมที่สุด เพื่อเป็นตัวแทนระบบนิเวศที่หาได้ยากในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยและแหล่งเรียนรู้ของสังคมในอนาคต

กลุ่มรณรงค์ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการแสดงพลังให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พืชเฉพาะถิ่นของไทยที่ใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่งชนิดนี้ และจะได้ติดตามความคืบหน้าและรายงานผลการอนุรักษ์ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในลำดับต่อไป

หม้อข้าวหม้อแกงลิง สายพันธุ์นี้ยังพบแห่งเดียวในโลก ที่เมืองไทย

หม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ Nepenthes suratensis เป็นพืชกินแมลงเฉพาะถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered in IUCN Red List) เพราะเหลือประชากรในธรรมชาติอยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือการดำเนินการอนุรักษ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้กำลังดำเนินไปด้วยดี เพราะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมีแผนการอนุรักษ์อย่างรอบด้าน ทั้งความพยายามขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งการอบรมและจัดค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้แก่โรงเรียนต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยดั้งเดิม และป้องกันการถูกลักลอบขุดออกไปขาย
ความสำคัญของการศึกษาพืชในกลุ่มหม้อข้าวหม้อแกงลิง นอกจากการจำแนกชนิดใหม่ๆแล้ว ยังกำลังดำเนินการศึกษาไปถึงเชื้อราหรือแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในหม้อข้าวหม้อแกง ที่อาจนำไปสู่การค้นพบยาปฏิชีวนะยาต้านอนุมูลอิสระหรือยาต้านมะเร็งได้
โชคดีที่พื้นที่ที่พบหม้อข้าวหม้อแกงลิง "กาญจนดิษฐ์" ชนิดนี้อยู่ในเขตราชการ ทำให้ยังคงเหลือสภาพพื้นที่ธรรมชาติอยู่บ้าง ในขณะที่พื้นที่โดยรอบถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยไปหมดแล้ว
แต่โชคร้ายที่ขณะที่หน่วยงานราชการเจ้าของพื้นที่มีแผนก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ ซึ่งเมื่อเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ก็จะทำให้ หม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์นี้มีสถานะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild) ทันที
มาตรการเดียวที่นักพฤกษศาสตร์พยายามทำได้ในตอนนี้คือ เร่งเก็บตัวอย่างหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อพยายามนำไปย้ายปลูกในที่อื่น แต่ด้วยกำหนดการก่อสร้างที่กำลังจะเริ่มดำเนินการเคลียร์พื้นที่ในอีกไม่กี่อาทิตย์ ประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญในการเก็บตัวอย่างพืชชนิดนี้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ทำให้น่าเป็นห่วงถึงชะตากรรมของพืชเฉพาะถิ่นของโลกชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง
เป็นไปได้หรือไม่ที่กรมราชทัณฑ์จะชะลอการก่อสร้างเรือนจำแห่งนี้ เพื่อให้การเก็บตัวอย่างเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีการเตรียมการให้ดีที่สุด หรือถ้าให้ดีที่สุด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนผังการก่อสร้างเรือนจำบางส่วน เพื่อให้การอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติดั้งเดิมแห่งสุดท้ายในโลกของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น