หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำระดับโลก ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบอุปกรณ์การศึกษาและวิจัยด้านระบบ IP ครบวงจร ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการและเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านความรู้ในสายอาชีพและมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่เรียนทางด้านไอซีที โดยข้อตกลงเบื้องต้นมีระยะเวลา 5 ปี และมีโอกาสที่จะขยายระยะเวลาออกไปอีกในอนาคต
ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก่อให้เกิดความร่วมมือในหลาย ๆ มิติ ได้แก่ การพัฒนาทักษะความรู้ด้านไอซีทีให้กับนักศึกษา มอบอุปกรณ์การศึกษาและวิจัยด้านระบบ IP ครบวงจรให้นิสิตได้เรียนรู้ และศึกษาวิจัยจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้จัดตั้งกองทุนสำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีละ 5 ทุน เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยนิสิตที่ได้รับทุนจะต้องผ่านเกณฑ์การตัดสินต่าง ๆ และต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะประกอบอาชีพในสายงานด้านไอซีที
วัง อี้ฝาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หัวเว่ย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือครั้งสำคัญกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์กับนิสิตและเหล่าคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาหลักของประเทศไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นผู้นำหลักสูตรด้านไอซีที เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่หัวเว่ยมอบให้ ทั้งทุนการศึกษาและความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิต และคณะวิศวกรรมศาสตร์ และจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทยในระยะยาวอีกด้วย”
ภายใต้ข้อตกลงระหว่างหัวเว่ย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมซีเอสอาร์ของหัวเว่ยที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถและการศึกษาด้านไอซีทีให้กับประเทศไทย ภายใต้โครงการ “บ่มเพาะเมล็ดพันธ์แห่งอนาคต” (Seeds for the Future) กิจกรรมซีเอสอาร์ทั่วโลกของหัวเว่ยที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2551 ปัจจุบันหัวเว่ย ประเทศไทย ได้จัดทำโปรแกรมถ่ายทอดความรู้ ส่งผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ยไปเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาชั้นนำต่าง ๆ มากมาย และได้ดำเนินการฝึกอบรมนิสิต นักศึกษากว่า 1,800 คน นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังได้มอบโอกาสในการฝึกงานให้แก่นักศึกษากว่า 100 คนจากทั่วประเทศ
ในพ.ศ. 2558 นี้ หัวเว่ยได้วางแผนสานความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 10 แห่งในประทศไทย ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงานด้านซีเอสอาร์ของหัวเว่ย ตลอดจนการตอกย้ำถึงชื่อเสียงขององค์กรในฐานะพลเมืองที่ดีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานความสัมพันธ์กับหัวเว่ยในการนำประโยชน์และโอกาสครั้งสำคัญให้กับนิสิตและคณะของเรา ภายใต้ข้อตกลงนี้ หัวเว่ยจะมอบทุนการศึกษาจำนวน 5 ทุนต่อปีให้กับนักศึกษาที่เรียนในวิชาด้านไอซีที นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้มอบอุปกรณ์การศึกษาและวิจัยด้านระบบ IP ที่ทันสมัยขึ้นให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและคณาจารย์สามารถทำการวิจัยและได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและข้อมูลที่ใช้งานอยีจริงในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ และความความรู้แก่นิสิตที่เรียนเทคโนโลยีไอซีทีได้อย่างเต็มที่ และจะเป็นประโยชน์ในการพัฒานาด้านไอซีทีสืบไปในอนาคต”
“ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจทั่วโลก หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะตอบแทนสิ่งดี ๆ คืนกลับสู่สังคมที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ หัวเว่ย มีความภาคภูมิใจที่ได้ส่งเสริม การเรียนการสอนด้านไอซีทีในหลากหลายรูปแบบผ่านโครงการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต เรามีความตั้งใจที่จะสานต่อโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ในปีต่อ ๆ ไป เราวางแผนที่จะขยายโครงการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตไปยัง 20 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เพื่อเข้าถึงนักศึกษากว่า 3,000 รายทั่วประเทศ และจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ดูแลด้านไอซีทีเพื่อเข้าร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาที่สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย สาธารณรัฐ-ประชาชนจีนให้เป็น 100 คน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของประเทศไทยในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาคอาเซียน และเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” วัง อี้ฝาน กล่าวสรุป