นับเป็นครั้งแรกในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ที่เปิดเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืน เรียกว่าเป็นการปลุกธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นโดยการต่อยอดจากเกษตรวิถีอินทรีย์ ซึ่งช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ภายใต้โครงการ “ปั่นตามวิถีอินทรีย์สุขใจ”
แนะนำ สองเส้นทางใหม่ ไม่ไกลกรุงเทพฯ
สองเส้นทางปั่นจักรยานที่แนะนำ และนำมาใช้เปิดโครงการ เส้นทางแรก เหมาะกับการปั่นเบาๆ เพื่อทุกคนในครอบครัวไปด้วยกันในระยะทาง 8 กิโลเมตร ซึ่งตอนวันเปิดเส้นทางมีทั้งคนสูงวัยและเหล่านักปั่นตัวเล็กตัวน้อยเข้าร่วมเส้นทาง บางช่วงทุกคนต้องช่วยเหลือกันแบกจักรยานเพื่อลงเรือเอี้ยมจุ๊นล่องไปตามแม่น้ำท่าจีนที่ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ไปขึ้นยังท่าวัดสรรเพชญเพื่อกราบนมัสการหลวงปู่เพิ่อ
จากนั้นแวะเข้าไปชมการทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ของเด็กในโรงเรียนวัดสรรเพชญ โดยโรงเรียนแห่งนี้ ก็นำองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์จากโครงการสามพรานโมเดลมาใช้ จึงมีโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำไปใช้กับแปลงเกษตร และทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมะนาวซึ่งให้กลิ่นหอมกว่าน้ำหมักทั่วไป เด็กๆ สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย และที่นี่เป็นแหล่งหนึ่งที่บรรจุใส่ขวดเพื่อนำไปขายที่ตลาดสุขใจ
ต่อจากนั้นมุ่งหน้าไปยังวัดเดชานุสรณ์ ที่นี่จะได้เห็น “การทำเกษตรแบบบวร” คือความร่วมมือกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน คนที่ปลูกผักมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผลผลิตที่ได้มาปันกันกินและขายกันในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผักกาด ผักกวางตุ้ง มะเขือเปราะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชนต.ยายชา ที่เกิดจากแนวคิดดีๆ ของ นางวาสนา กลิ่นพะยอม นายกอบต.ยายชา
เสร็จจาก วัดเดชานุสรณ์ ปั่นลัดเลาะต่อไป เข้าสวนลุงเขียด สวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน IFROAM&EUและ CANADA มีทั้งแปลงผัก ผลไม้ แปลงนา แบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน ที่นี่จะสนุกกับกิจกรรมพิเศษต่างๆ อาทิ โยนข้าว ดำนา ดูคุณลุงวัย 67 ปี ปีนต้นหมากที่มีความสูงเทียบเท่ากับตึก 3 ชั้น โดยใช้ขาเกี่ยวต้นโน้นไปต้นนี้ได้อย่างง่ายดาย
จุดแวะต่อไปเป็น สวนเกษตรอินทรีย์ของ ป้าประหยัด ปานเจริญ เกษตรกรอินทรีย์วัยเฉียด 50 เจ้าของสวนฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าว และมะม่วงนับ 10 ไร่ บุกเบิกให้สวนแห่งนี้เป็นอินทรีย์มากว่า 10 ปี แต่กว่าจะถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
ป้าประหยัดเล่าให้ฟังว่า “ทำอินทรีย์นั้นลำพังจัดการหญ้าในสวนก็ยากแล้ว เพราะภายใต้เงื่อนไขการทำอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานสากลนั้น ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้า ต้องใช้วิธีดายหญ้าแทน ดังนั้นจึงใช้วิธีลงแขกกันระหว่างคนทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน”
จุดนี้เหล่านักปั่นได้เติมพลังด้วยผลไม้และ น้ำผลไม้อินทรีย์ปั่นสดๆ อาทิ ฝรั่ง มะม่วง กล้วย ฝักข้าว แม้หน้าตาผลไม้บางชิดจะไม่สวยงามนัก แต่เมื่อได้ชิมทุกคนล้วนติดใจในรสชาติของผลไม้อินทรีย์
ส่วนเส้นทางที่ 2 ระยะทาง 60 กม. เหมาะกับนักปั่นที่เคยปั่นมาก่อน และควรปั่นกันเป็นกลุ่มใหญ่สักหน่อยเพื่อความปลอดภัย
เมื่อวันเปิดเส้นทาง จุดสตาร์ทอยู่ที่ตลาดสุขใจ สวนสามพราน ไปวัดไร่ขิง วัดทรงคะนอง พุทธมณฑลสาย 7 ผ่านวัดสรรเพชญ อบต.ยายชา เข้าตลาดสามพราน ผ่านหน้าโรงเรียนนาคประสิทธิ์ ตัดผ่านถนนคลองใหม่ เข้าวัดวังน้ำขาว วัดจินดาราม วัดปรีดาราม ข้ามสะพานคลองจินดา จากนั้นตัดออกถนนคลองใหม่ ผ่านหน้าวัดเทียนดัด เข้าซอยราษฎรสามัคคี และกลับมาที่สามพรานฯเช่นกัน ซึ่งตลอดเส้นทางการปั่น นักปั่นจะได้สัมผัสบรรยากาศสองข้างทางที่เต็มไปด้วยสวนผัก ผลไม้ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.สามพราน
เปิดใจ ผู้ร่วมเปิดเส้นทางปั่นตามวิถีอินทรีย์ ที่สามพราน
เส้นทางปั่นจักรยานตามวิถีเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างสามพรานริเวอร์ไซด์ มูลนิธิสังคมสุขใจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจ.นครปฐม และโรงพยาบาลมหาชัย 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อยอดมาจากโครงการสามพรานโมเดล ที่ดำเนินการมา 5 ปีแล้ว มุ่งส่งเสริมให้พื้นที่ อ.สามพรานทำเกษตรอินทรีย์
ชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า จังหวัดนคปฐมมีทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แต่ความร่มรื่นของพื้นที่เกษตรกรรมเก่าแก่ยังมีอยู่ เส้นทางปั่นจักรยานที่คนนิยมคือเส้นทางนครชัยศรี ซึ่งสามารถแวะไปตามสวนต่างๆ หรือปั่นมาสามพรานมีสวนผลไม้ แปลงผัก ได้เห็นวิถีชีวิตเกษตรอุตสาหกรรม เพราะนโยบายหนึ่งของจังหวัดคือการส่งเสริมให้เกิดเกษตรอินทรีย์ เชื่อว่ากระแสตื่นตัวการบริโภคอาการปลอดภัยจะกระตุ้นให้คนเข้ามาท่องเที่ยวเส้นทางปั่นเพื่อสุขภาพก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
“นครปฐมมีตลาดชุมชนค่อนข้างมากเมื่อมีนักปั่นมาจังหวัดนครปฐมมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราโดยตรง ไปดูได้ตามตลาดชุมชนในวันหยุด จะมีนักปั่นไปจับจ่ายใช้สอย ส่วนเรื่องของความปลอดภัยได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยดูแลเรื่องการปั่นของเหล่านักปั่น ทั้งนี้หากมาเป็นกลุ่มคณะสามารถแจ้งมาได้ที่จังหวัด”
ด้าน อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า การเปิดเส้นทางปั่นตามวิถีเกษตรอินทรีย์ครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงการทำเกษตรที่ปลอดภัยและสร้างความภูมิใจให้กับเกษตรกรว่า ทีี่่เขาลงมือทำมีคนมาชื่นชม และนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังสามพรานริเวอร์ไซด์ สามารถเข้ามายังตลาดสุขใจ เพื่อขอข้อมูลเรื่องเส้นทาง อาทิ ถ้าสนใจเรื่องข้าวอินทรีย์เข้าไปยังตำบล ไร่ขิง สนใจดูเรื่องผลไม้เข้าไปยังต.บางช้าง คลองจินดา สนใจเรื่องผักไปที่ อ.เมือง เราจะมีเส้นทางแนะนำโดยเข้าไปดูเฟชบุ๊คสามพรานโมเดล ซึ่งปีนี้มีเกษตรอยู่ 80 ราย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลแล้ว ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะอยู่ในเส้นทางเหล่านี้ ปีต่อไปถ้ามีเกษตรกรมากขึ้นก็จะมีเส้นทางจักรยานมากขึ้น ทังนี้นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรได้ และซื้อผลผลิตในราคาที่ไม่แพง
“ภาพรวมการจัดกิจกรรมปั่นคิดว่าประสบความสำเร็จได้ เห็นแนวร่วมตื่นตัว ทั้งตัวชุมชนเองที่เตรียมพร้อมมาเป็นเดือน คิดว่าลูกค้าพร้อมที่จะซื้อ แต่ความร่วมมือของคนในพื้นที่สำคัญสุด และทำให้เกษตรกรที่ยังลังเลว่าจะทำเกษตรอินทรีย์ดีไหมทำให้เขาตัดสินใจเข้ามาเลย ทำให้หัวหน้ากลุ่มมีความหวังว่าเกษตรอินทรีย์คือทางออกของชีวิตของเขา” คุณอรุษ กล่าว
แม้เส้นทางปั่นจักรยานตามถนนที่ขนาบไปด้วยสวน จะมีเหล่านักปั่นเยี่ยมกรายกันมาบ้างแล้ว แต่การมาแบบคนต่างถิ่นไม่ได้มีโอกาสได้โอภาปราศรัยกับคนท้องถิ่น อาจไม่ได้ความรู้และความงามในหัวใจกลับไป
ขณะที่ ธวัชชัย เอกธุระประคัลภ์ (เฮียฮ้อ) ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ จ.นครปฐม เล่าถึงประสบการณ์หลังปั่นในเส้นทาง 60 กิโลเมตร ว่า เส้นทางนี้น่าปั่น เพราะมีต้นไม้ร่มรื่น แต่สิ่งที่นักปั่นควรให้ความระวังคือเรื่องของเส้นทาง เพราะเป็นถนนที่ตัดผ่านร่องสวน จึงไม่ค่อยมีไหล่ทาง และมีทางโค้งเยอะ จึงควรเลือกไปเป็นกลุ่มน่าดีกว่า เพราะจะช่วยกันดูรถที่ขับสวนไปมา
“จุดที่น่าสนใจของเส้นทางนี้ คือการมีจุดแวะชมสวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะมีป้ายบอกไว้ ทำให้เราได้ความรู้ในการปลูกพืชปลูกง่ายๆ และยังได้ชิมผลไม้ในสวนอินทรีย์ได้” นักปั่นบอกเล่า
ด้าน ศิริมา จินดาทอง และเพื่อนสาวอย่างจันทร์เพ็ญ ร่วมเล่าประสบการณ์ว่า มาปั่นจักรยานครั้งนี้แม้จะเป็นระยะทางสั้นแค่ 8 กม. ทำให้ได้มุมมองใหม่กับสวนสามพรานใหม่ว่าที่นี่มีการส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง และชื่นชมกับการจัดการชุมชนของอบต.ยายชา ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องด้านพอเพียง
"ปั่นจักรยานตามวิถีอินทรีย์ยั่งยืน ต่างจากการจัดงานจักรยานทั่วไป เพราะที่นี่มีความรู้ มีอาหารดีราคาถูกและสิ่งสำคัญช่วยเติมพลังให้กับเกษตรที่จะยืนหยัดปลูกพืชผักโดยไม่พึ่งพาสารเคมีต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สวนเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในโครงการ สามพรานโมเดล
หลังจากนี้ จะมีการเปิดเส้นทางเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 เส้นทาง โดยตลาดสุขใจเป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ คือ 1.กลุ่มเกษตรกรไร่ขิง ระยะทาง 13 กม.กลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้างระยะทาง 28.5กม.กลุ่มพัฒนายั่งยืน ตลาดจินดา ระยะทาง 5.6 กม. กลุ่มพี้น้องสองตำบล+…ระยะทาง 16.1 กม. และกลุ่มพี้น้องสองตำบล+…ระยะทาง 29.2 กม.
ทั้งนี้ เส้นทาง “ปั่นตามวิถีอินทรีย์สุขใจ” เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ สำหรับหน่วยงาน องค์ต่างๆ หรือผู้ที่สนใจต้องการนำกลุ่มพนักงาน ชุมชน มาเรียนรู้ หรือมาทำกิจกรรมพัฒนาบุคลากร และต้องการบูรณาการเรื่องวิถีไทย การท่องเที่ยวเชิงวิถีอินทรีย์ ตามเส้นทางต่างๆ โดยขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการสามพรานโมเดล ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ สุขใจ 034-225-203 หรือติดต่อโดยตรงที่ สุทิศ จิราวุฒิพงษ์ 081-668-2165 และ ชฤทธิพร เม้งเกร็ด 081-854-0880