2 กลุ่มเกษตรกรพัฒนาองค์ความรู้ มจธ.เดินหน้าชาวสวนส้มบางมดกู้วิกฤต “ส้มบางมด” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างความยั่งยืนด้วยพืชมูลค่าสูง พลิกพื้นดินอีสาน ดัน “สตรอเบอรี่นาแห้ว” ชูจุดขายปลอดสารพิษดึงดูดนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน วางอนาคตเล็งขยายผลพืชชนิดใหม่ เช่น มะเขือเทศสเนคสลิมและอะโวกาโด้
กู้วิกฤตสวนส้มบางมด
“ส้มบางมด” ขึ้นชื่อว่าเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ด้วยรสชาติหวานแหลมอร่อยไม่เหมือนส้มเขียวหวานทั่วไป ส้มบางมดแท้ๆ สังเกตได้จากผลกลมแป้น และผิวมีลายเหมือนสีหมากสุก มีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม ถ้าแก่จัดจะมีสีออกส้มแดง เปลือกจะบางนิ่ม ไม่แข็ง ขั้วจะสด เก็บไว้นาน 5-6 วันไม่เน่า ซังนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติจะหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กๆ ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่เหนือกว่าส้มเขียวหวานจากที่อื่นทั่วไป
แต่ปัจจุบันหาส้มบางมดแท้ได้น้อยลงทุกที แม้จะมีการนำกิ่งพันธุ์ส้มบางมดไปปลูกยังพื้นที่อื่นๆ กันมาก ก็ไม่ได้รสชาติที่หวานเป็นเอกลักษณ์เหมือนส้มบางมด และผลผลิตของส้มเขียวหวานบางมดที่ขายอยู่ตามตลาดมีรสชาติไม่อร่อยเหมือนส้มบางมดแท้ๆ เพราะมาจากคนละพื้นที่ จึงไม่แปลกที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจผิดว่า “ส้มบางมด”ปิดตำนานลงแล้ว
เหตุที่ทำให้ส้มบางมดคลายชื่อเสียงลง เพราะแหล่งเพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมหนักหลายต่อหลายครั้งทำให้ต้นส้มถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน รากเน่าล้มตายในที่สุด เกษตรกรล้มละลาย หลายคนตัดใจขายที่ดิน ย้ายไปทำกินที่อื่น จนแทบไม่เหลือสวนส้มให้เห็นอีก ประกอบกับความเจริญของเมืองเข้ามาทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มที่ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และโรงงานต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ยังมีเกษตรกรชาวสวนส้มบางมดบางรายหวนกลับมาพลิกฟื้นพื้นดินสวนส้มบางมด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาดินเป็นกรด การแนะนำให้ใช้พืชสมุนไพรและการทำสารชีวพันธุ์เพื่อใช้จัดการกับแมลงศัตรูพืชแทนการใช้ปุ๋ยและยาที่เป็นสารเคมีราคาแพง รวมทั้งสอนวิธีการตอนกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำสวนส้มลงแล้ว ยังผลิตขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้บ้าง
วาสนา มานิช นักวิจัย สังกัดศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ นำองค์ความรู้เข้าไปประสานและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชาวสวนส้มที่ประสบปัญหาใน 5 ส่วนหลักๆ คือเรื่องดิน น้ำ การจัดการศัตรูพืช พันธุ์พืช และการซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการเกษตร เป็นการนำความรู้เข้าไปช่วยเติมเต็มให้เกษตรกร เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ต่อไป
แม้จะแก้ปัญหาได้เกือบทุกด้านแล้ว แต่ปัญหาสำคัญที่สุดคือเรื่องน้ำ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ชาวสวนส้มบางมดรอคอยความช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร ให้เร่งติดตามแก้ไขปัญหาการรุกของน้ำเค็ม ขอเพียงเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มออกและดูดน้ำจืดกลับเข้าร่องสวนโดยด่วน เพื่อให้“ส้มบางมด”อยู่รอดปลอดภัย
พลิกพื้นดินนาแห้ว
ปลูกสตรอเบอรี่ปลอดภัย
“ไร่สตรอเบอรี่นาแห้ว” เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เล็งเห็นสภาพปัญหาของพื้นที่ จึงเข้าไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนสามารถดำรงชีวิตในพื้นที่ชนบทและอยู่ร่วมกับป่าได้ มีการพัฒนาชุมชนชนบทให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานในชุมชน ชาวบ้านและสถาบันการศึกษา มีการพัฒนาอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมพืชมูลค่าสูง การใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในพื้นที่ เพื่อให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ปิยทัศน์ ทองไตรภพ ผู้ช่วยนักวิจัย ในฐานะผู้จัดการพื้นที่ เจ้าของโครงการการใช้สารชีวภาพแทนสารเคมี (ลดการใช้สารเคมี) และการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ปลูกสตรอเบอรี่ กล่าวว่า สตรอเบอรี่เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง และมีศักยภาพที่จะปลูกในพื้นที่อำเภอนาแห้ว เนื่องจากมีภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกับภาคเหนือ รวมทั้งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยก็มีประสบการณ์ด้านสตรอเบอรี่มาเป็นเวลานาน โดยมจธ.และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มีการทดสอบการปลูก สายพันธุ์ การผลิตต้นไหล และการแปรูปผลผลิตสตรอเบอรี่
ผลคือพื้นที่หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อยและหมู่บ้านห้วยน้ำผัก ตำบลแสงภา สามารถปลูกสตรอเบอรี่ มีสตรอเบอรี่หลายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่และให้ผลผลิตทีตลาดบริโภคสดยอมรับ จึงส่งเสริมเป็นพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสานและกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ และอุณหภูมิที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี
“ในอดีตนาแห้วต้องใช้ต้นไหลสตรอเบอรี่หรือต้นพันธุ์จากจังหวัดเชียงใหม่มาปลูกในพื้นที่ แต่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ ทั้งความสมบูรณ์ของต้น การแพร่กระจายของโรค ความเสียหายจากระบบการขนส่ง รวมทั้ง ต้องขนดินลงมาจากบนดอยปีละหลายตัน ส่งผลให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ แต่ด้วยเทคโนโลยี ปัจจุบันเกษตรกรลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หันมาผลิตไหลสตรอเบอรี่ขายอย่างเดียวมากขึ้น เพราะสร้างรายได้มากกว่า โดยสามารถผลิตไหลสตรอเบอรี่ได้มากกว่า 150,000 ต้น สร้างรายได้ถึง 300,000 บาท”
จุดเด่นคือไหลสตรอเบอรี่ที่เพาะขึ้นเองในพื้นที่ มีคุณภาพดี มีความพร้อมที่จะนำไปปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ไม่เป็นโรค ผลโต มีรสชาติหวาน ปลูกแล้วได้ผลกำไรดีชาวบ้านจึงหันมาปลูกเพิ่มขึ้น 45 ครอบครัวจากเดิมไม่ถึง 10 ราย มีพื้นที่ปลูกรวมกันมากกว่า 14 ไร่ ได้ผลผลิต 200 กรัมต่อต้น หรือ 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ ที่สำคัญ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ฉีดพ่นลงบนต้น มีเพียงการใช้ปุ๋ยเคมีเท่านั้น จึงเรียกสตรอเบอรี่นาแห้วว่า “สตรอเบอรี่ปลอดภัย”
“เรานำเทคโนโลยีการเพาะปลูกต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งที่เชียงใหม่ เชียงราย และโครงการหลวง มาประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไหลสตรอเบอรี่ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาใช้ให้เกิดผลผลิตมากที่สุด คือสามารถผลิตต้นไหลมีตาดอก แข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมปลูก”
“เราทำได้แล้วเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา สร้างความมั่นคงให้ชาวบ้านหลังจากใช้เวลามาตั้งแต่ปี 2539 แม้จะนานแต่ในที่สุดก็ได้ผล โดยเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปลูกสตรอเบอรี่ มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 บาท/ครอบครัว ลดปัญหาการบุกรุกป่าและปัญหาการย้ายถิ่นฐานของเกษตรกรได้ นอกจากนี้ มจธ. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำพืชชนิดอื่นเข้ามาในพื้นที่อีกในอนาคต อาทิ มะเขือเทศสเนคสลิม และอะโวกาโด้ เป็นต้น”