บริษัทสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ให้แก่ชุมชนชาวไร่กาแฟ บ้านแม่ขี้มูกน้อย และบ้านกองกาย เมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านองค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (The Integrated Tribal Development Program) หรือ ไอทีดีพี เพื่อให้การพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของประเทศไทยเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเนื่อง
เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่าศูนย์แห่งนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรายได้ที่สตาร์บัคส์จำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วจากร้านกาแฟเพื่อชุมชนในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์พัฒนาทักษะทางด้านการประกอบอาชีพและเพาะปลูกกาแฟ เพื่อผลผลิตกาแฟชั้นเยี่ยมแก่ลูกค้าสตาร์บัคส์
นับเป็นการเชื่อมโยงลูกค้ากับชาวไร่ผู้ปลูกกาแฟ โดยนำรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ในร้านกาแฟเพื่อชุมชนตลอด 1 ปี ร่วมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนชาวไร่กาแฟบ้านแม่ขี้มูกน้อยและบ้านกองกาย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรายได้ทุก 10 บาท จากการจำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วที่ร้านกาแฟเพื่อชุมชน สาขาหลังสวน ซึ่งมีจำนวน 1,500,000 บาท สมทบกับรายได้ร้อยละ 5 จากการจำหน่ายกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ และทุน Youth Action Grants ที่สตาร์บัคส์มอบการสนับสนุนให้แก่องค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือ ไอทีดีพีเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแก่ชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของประเทศไทย อีกทั้งสตาร์บัคส์ พาร์ทเนอร์ (พนักงาน) ได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน
“เราเคยฉลองครบรอบ 1 ปี ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย ณ สาขาหลังสวน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาของเราในการตอบแทนคืนสู่ชุมชนอย่างจริงจังเรามีความยินดีที่ได้ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้หลังนี้ให้แก่ชุมชนชาวไร่กาแฟ นอกจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สถานีอนามัย และโรงเรียนก่อนหน้านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่กาแฟ และสตาร์บัคส์ยังคงมุ่งมั่นสานต่อความสัมพันธ์อันทรงพลังระหว่างสตาร์บัคส์และชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของประเทศต่อไป ผ่านการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเรา” เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กล่าว และว่า
“เราได้เห็นการพัฒนาทั้งในคุณภาพชีวิต ระบบระบบสาธารณูปโภค สถานีอนามัย และโรงเรียนของชุมชน ที่ชุมชนชาวไร่กาแฟได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่นี้ จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่กาแฟได้อีกขั้น เพื่อต่อยอดการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่แล้ว และจะเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรม ด้านช่างยนต์ และทักษะการสื่อสารเพื่อต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตรวมทั้งส่งเสริมให้ชาวไร่สามารถผลิตกาแฟคุณภาพเยี่ยมให้กับพวกเราอย่างต่อเนื่องเป็นการตอบแทน และยังเป็นการต่อโอกาส ความรู้ และอนาคตที่ดีให้แก่ชาวไร่กาแฟรุ่นต่อไป”