xs
xsm
sm
md
lg

จัดประชุมผู้ถือหุ้นทำไมเป็น CSR+CG / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. นำทีมผู้บริหารจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย แถลงจุดยืนส่งเสริมให้อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นปฏิบัติหน้าที่ในการลงมติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ อาคารสำนักงาน ก.ล.ต.
มีปรากฎการณ์สำคัญในวงการตลาดหุ้นบ้านเราที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และการมีธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการที่ดี (CG) โดยมีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคมนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำขบวนร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ประกาศจุดยืนส่งเสริมให้ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” ปฏิบัติหน้าที่ในการลงมติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติในการแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งขององค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีในตลาดทุนไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงมีแนวทางการลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ในวาระที่ปรากฏในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ตามประเด็นเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1 การปรากฏ “วาระจร” ที่สอดแทรกเข้ามาในการประชุมทั้งที่ไม่ได้กำหนดล่วงหน้าในหนังสือเชิญประชุมซึ่งเป็นการให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้นโดยไม่เท่าเทียมกัน
2 การเลือกตั้ง “กรรมการอิสระ” ที่มีวาระเกินกว่า 3 วาระ (วาระละ 3 ปี) ซึ่งอาจมีประเด็น เรื่องของความมีอิสระตามหน้าที่ เพราะหากผู้ถือหุ้นใหญ่พอใจเป็นพิเศษก็น่าจะเชิญเป็นกรรมการประเภททั่วไป
3 การมี “เงื่อนไข ของผู้สอบบัญชี” ที่ระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินซึ่งอาจมีความไม่กระจ่างเรื่องของผลการดำเนินงาน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้ความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ดังนั้น สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จะมีการมอบหมายให้อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงาน ของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2558 ใน 2 เรื่อง สำคัญ คือ
1 คำอธิบายการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ หรือ MD & A - (Management Discussion and Analysis)
2 การเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต(Collective Action Coalition) - CAC โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
อย่างไรก็ตาม มีข้อความแสดงเจตนารมณ์ที่ดีบอกมาว่า “สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ขอยืนยันในการทำหน้าที่ อย่างเป็นกัลยาณมิตรกับทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการทำหน้าที่ผนึกกำลังกับทุกองค์กร, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผนึกกำลังร่วมกัน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับธรรมาภิบาลให้กับตลาดทุนไทยแบบยั่งยืนสืบไป”
มีการขยายความจาก วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ว่า “กฎหมายกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องจัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Shareholders’ Meeting: AGM) ภายใน 120 วัน หลังปิดงวดบัญชีประจำปี ดังนั้น การจัด AGM ของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะจัดภายในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี และปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของการประเมินคุณภาพการจัด AGM
ขณะที่ตลาดทุนไทยมีการขยายตัวทั้งมูลค่าการซื้อขายและจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียน พร้อมกับมีการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ตลอดจนความซับซ้อนของกลยุทธ์การบริหารงาน ดังนั้น เกณฑ์การประเมินจึงต้องปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถปกป้องสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นรายบุคคลด้วย
“ก.ล.ต. ได้ริเริ่มให้มีการพัฒนาคุณภาพของการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี โดยมอบหมายให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคลรับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยใช้โครงการ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งโครงการสามารถทำหน้าที่ได้ จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารบริษัทมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น”
ปลิว มังกรกนก รองประธาน IOD กล่าวว่า “ความสำคัญของการแสดงจุดยืนในการลงมติและการตั้งคำถามทางด้านการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มิใช่แค่ทำให้เกิดการประชุมสามัญประจำปีที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังนำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิของตนเองและการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการในบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ ในขณะเดียวกัน ก็ผลักดันให้คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักการกำกับดูลิจการและจัดให้มีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการกำกับดูแลกิจการในภาพรวม และความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”
ประทีป ตั้งมติธรรม อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “ในนามของบริษัทจดทะเบียน ผมรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ผู้ถือหุ้นจะเข้ามาร่วมประชุมสามัญประจำปี เหมือนเรามีนัดกันทุกปี ตามเกณฑ์ของการเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมเชื่อมั่นว่าผู้บริหารของทุกแห่งย่อมยินดีให้ความร่วมมือ และยินดีต้อนรับผู้ถือหุ้น”
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “การบริหารกองทุน นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพแล้ว พวกเรายังยึดมั่นด้านการกำกับดูแลกิจการ เป็นปัจจัยที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการลงทุน เพราะเชื่อมั่นว่า กิจการที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเป็นพลเมืองดีของสังคมจะมีความมั่นคง ยั่งยืนด้านผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น”
สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ “การลงทุนของ กบข. มีความระมัดระวังที่จะพิจารณาในทุกมิติ นอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องผลตอบแทนให้กับสมาชิกแล้ว ข้อใหญ่ที่ทาง กบข. หยิบขึ้นมาพิจารณาลงลึกคือการกำกับดูแลกิจการ”
มงคล ลีลาธรรม นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า “การประชุมสามัญประจำปีเป็นจังหวะโอกาสอันดีที่ผู้ถือหุ้นจะได้พบปะกับผู้บริหาร และได้รับรู้ผลการดำเนินงานของหุ้นที่เข้าไปลงทุน ตลอดจนมีการซักถามในประเด็นต่างๆ ในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ สมาคมฯ เองเป็นผู้ถือหุ้นในทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนไทย และใช้สิทธินี้ในการเข้าร่วมประชุม โดยมอบฉันทะให้อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เข้าร่วมประชุม ประเมินผลตามเกณฑ์ที่เป็นที่รับทราบกันระหว่างทุกบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว”

ข้อคิด...
นี่คือความเคลื่อนไหวของปัจจัยภายนอกกิจการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่ระดมทุนจากสังคม ทั้งได้ประโยชน์จากสิทธิ์ทางภาษีและมูลค่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (CSR) ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติยอมรับกันของบริษัททีดี เพราะบทบาทของผู้ถือหุ้นยุคใหม่ ไม่ได้มีเพียงการรอรับเงินปันผลจากบริษัทเท่านั้น แต่ผู้ถือหุ้นมีฐานะเป็น “เจ้าของร่วม” จึงควรมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการบริษัทด้วยการมีสิทธิ์รับข้อมูลข่าวสาร เข้าประชุม และออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
ขณะที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้จัดการและพัฒนา “อาสาพิทักษ์สิทธิ์” เป็นตัวแทนของสมาคมได้เข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น คะแนนที่ลงมติแม้จะน้อยนิด แต่ก็นับเป็น “เสียงทอง” ที่จะคัดค้านความไม่ถูกต้องที่ได้บันทึกไว้
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น