xs
xsm
sm
md
lg

กรีนเทคโนโลยี สั่นสะเทือน จากราคาน้ำมันร่วงเชิงนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดพลังงานกรีน หรือพลังงานทดแทน (Green Energy) เป็นหนึ่งในตลาดเทคโนโลยีกรีนที่มีการพัฒนามาตลอด และกระเตื้องดีขึ้นตามลำดับ จนไม่มีใครในโลกคาดคิดว่าจะมีภัยคุกคามใดมาสกัดกั้นได้
เทคโนโลยีพลังงานกรีนกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของกลยุทธ์การเมืองและสงครามธุรกิจระดับโลกจากการที่ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเกินความคาดหมาย เมื่อนักลงทุนในตลาดหุ้นได้ลดความสนใจจะลงทุนในหุ้นกิจการที่เน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด
ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครเคยคิดและพยากรณ์ว่าระดับราคาของน้ำมันดิบเบรนท์จะลดลงถึง 46% นับจากเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกสร้างสงครามการค้า ด้วยการปรับเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อให้ระดับราคาน้ำมันลดลง ส่งผลต่อการตกต่ำของราคาผลิตภัณฑ์ที่ออกมาทดแทนน้ำมันด้วย
ผู้ประกอบการที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์พลังงานกรีนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และอุปสรรคกับการขยายกิจการ และขยายสัดส่วนของตลาดพลังงานทดแทนในอนาคตเทียบกับตลาดพลังงานทั้งหมด เพราะนักลงทุนในตลาดลดแรงจูงใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีกรีน หรือที่เรียกว่า Clean tech อย่างฮวบฮาบ

หุ้นของผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงบางราย อย่าง Vestas Wind Systems ในเดนมาร์ก ต้องเผชิญหน้ากับการตกต่ำของราคาหุ้นเกือบ 30% นับจากเดือนมิถุนายน ที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลงจากราคาสูงสุดที่ 114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทผลิตพลังงานโซลาร์รายใหญ่ของเยอรมัน ชื่อ Solarworld ได้ลดลงถึง 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นมองว่า แนวโน้มดังกล่าวนี้น่าจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่ช้า หรืออาจจะเร็วๆ นี้ที่บรรดานักลงทุนก็คงหวนกลับมาสู่หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ผลกระทบจากการใช้นโยบายกดราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าที่ควรผ่านการปรับอุปทานน้ำมัน เพื่อสร้างสงครามการค้ากับตลาดพลังงานทดแทน มีผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ในพอร์ตของนักลงทุนให้ด้อยมูลค่าลงด้วย จึงมีผลกระทบต่อการบริหารเงินลงทุนโดยรวมของนักลงทุนสถาบันด้วย
นอกเหนือจากผลกระทบโดยทั่วไปในตลาดพลังงานทดแทนแล้ว ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรืออิเล็กทริกคาร์ก็เผชิญหน้ากับราคาหุ้นที่ลดลงกว่า 10% ด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในตลาดพลังงานทดแทนโชคดีที่ได้รับความสนใจ และการให้ความสำคัญจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ พร้อมกับการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการพัฒนาพลังงานกรีนมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ รัฐบาลของประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างจีน สหรัฐฯและยุโรป ก็ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดการสร้างอากาศพิษด้วยการส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทดแทน
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประกาศความตกลงของประเทศชั้นนำของโลกที่จะปรับลดการก่อให้เกิดอากาศพิษไม่น้อยกว่า 25% ภายในปี 2025 ในกรณีของจีนและสหรัฐฯ และไม่น้อยกว่า40% ในกรณีของยุโรปภายในปี 2030 โดยโครงการที่รองรับจะเกี่ยวข้องกับการหาโซลูชันใหม่ๆ ทดแทนไฟฟ้าเป็นสำคัญ
นักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ดีมองว่า การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะกลับเป็นผลดีต่อการพัฒนาตลาดพลังงานทดแทนก็ได้ เพราะผู้ประกอบการในตลาดพลังงานทดแทนจะมีแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนต่ำลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับพลังงานน้ำมันที่ปรับระดับราคาลดลง

กระนั้นก็ตาม ผู้ประกอบการที่ลงทุนในเทคโนโลยีกรีนไปแล้วกังวลว่า หากราคายังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในปี 2015-2016 เนื่องจากกลุ่มโอเปกไม่มีท่าทีว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตลงในระยะอันใกล้นี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทนต่อไป
หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเหลือ 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจจะทำให้ตลาดพลังงานทดแทนไปต่อไม่ได้ และภาครัฐบาลอาจจะต้องเริ่มเตรียมแนวทางว่าจะจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น