xs
xsm
sm
md
lg

“กรีน แพกเกจจิ้ง” แรงไม่หยุด ผู้ประกอบการ ขานรับการพัฒนาต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยใส่ใจต่อประเด็นกรีน พร้อมการเปลี่ยนตนเองไปสู่ Green Consumer มากขึ้น ทำให้หีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือ Green Packaging เป็นอีกส่วนที่สำคัญ และเกิดการพัฒนามากขึ้น
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า มีสัดส่วนและจำนวนของนักชอปปิ้งที่พิจารณาหีบห่อของผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยรูปแบบของหีบห่อแต่ด้วยลักษณะของหีบห่อกรีน
บทวิเคราะห์ในลอสแองเจลิส ไทม์ชี้ว่า ผู้บริโภคได้นำเอาหีบห่อมาเป็นประเด็นในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นกว่าเดิม จากประมาณ 29% ในปี 2010 เป็น 36% ในปี 2011 เพื่อให้มั่นใจว่าได้เลือกหีบห่อประเภทที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่น่าสนใจกว่านั้น ผู้บริโภคเกินกว่า 50% ตอบแบบสอบถามว่า ยินดีที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น หากเห็นว่าหีบห่อสินค้านั้นเป็นกรีน และราว 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ตนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมสู่แบรนด์ที่ใช้หีบห่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน
ผลที่ได้จากแบบสอบถามนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้บริโภคได้ตอบรับกับการเป็น Green Consumer ด้วยการยอมรับภาระรายจ่ายเงินของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มของผู้บริโภคที่เป็นบวก และบอกถึงสัญญาณ ความใส่ใจและเอาจริงเอาจังต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากนักบริโภคทั่วโลก
นอกจากนั้น การจัดงานเขียนของ USA Today ยกประเด็นอุตสาหกรรมการหีบห่อต่อแนวกรีนได้เติบโตมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในแพกเกจ หรือหีบห่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีกิจการที่เพิ่งเริ่มประกอบกิจการสามารถทำรายได้ได้น่าพอใจจากวัตถุดิบที่ทำหีบห่อจากกรีนที่ทำมาจากเห็ด
ผู้ประกอบการดังกล่าว ชื่อ Ecovative Design มองเห็นโอกาสในการพัฒนาหีบห่อแนวกรีนจากเห็ด ที่สามารถนำเอาไปใช้เป็นหีบห่อของสินค้าได้หลากหลาย เพราะรูปลักษณ์ไม่ได้แตกต่างจากหีบห่อพลาสติกที่ปรับรูปทรงได้หลากหลาย


ยิ่งกว่านั้น ตัวหีบห่อยังพัฒนาให้สามารถกินได้ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะไม่มีผู้บริโภคคนใดที่อยากจะกินหีบห่อกรีนก็ตาม รวมถึงสามารถย่อยสลายไปได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี แถมต้นทุนการผลิตหีบห่อกรีนที่ว่านี้ก็สูงกว่าที่ผลิตด้วยพลาสติกไม่มากด้วย
นักการตลาดต่างเชื่อว่า หีบห่อกรีนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีอนาคตที่สดใสในอนาคต แม้แต่กิจการผู้ผลิตหีบห่อรายใหญ่ของโลกก็ยอมรับในเรื่องนี้ เพราะหีบห่อสินค้าเป็นองค์ประกอบที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ในทุกอุตสาหกรรม จึงเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าทุกประเภท ในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบมาสู่โรงงานผลิตและจัดส่งสินค้าที่ผลิตสำเร็จแล้วไปสู่ตัวแทนจำหน่าย และสู่ผู้บริโภคในที่สุด
ส่วนในมุมของผู้บริโภค หีบห่อสินค้าเป็นมากกว่าประโยชน์ที่ผู้ผลิตคิดขึ้นมาแต่ดั้งเดิม หากแต่การรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของโลก ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตต้องมองดูหีบห่อในมุมมองใหม่ ว่าพวกเขาต้องการและหาหีบห่อกรีนที่เป็นทางเลือกได้อีก
ในตลาดต่างประเทศ มีการใช้คำว่า Post-consumer หมายถึงสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีการใช้โดยผู้บริโภคและแยกออกมาจากขยะและการสูญเปล่าจากการรีไซเคิล วัตถุดิบที่เป็น Post-consumer คือวัตถุดิบที่ผ่านการ
รีไซเคิลโดยภาคครัวเรือนและผู้ใช้นอกกลุ่มครัวเรือน เช่น อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมและกิจการขายปลีก
ส่วน Pre-consumer คือกลุ่มที่แตกต่างจาก Post-consum เพราะได้รวมเอาส่วนที่สูญเสียที่ถูกทิ้งจากกระบวนการผลิต แปรรูปและงานพิมพ์ ที่เป็นส่วนรับผิดชอบของผู้ผลิตก่อนที่จะส่งถึงมือของผู้บริโภค
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตจึงมีทั้งส่วนของวัสดุที่เป็น Pre-consumer และ Post-consumer ซึ่งหากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อม
บรรดาวัสดุต่างๆที่ใช้ทำหีบห่อ กระดาษเป็นวัสดุที่ใช้กันในหลายประเภทอุตสาหกรรม จึงเป็นวัตถุดิบที่เข้าไปเป็นองค์ประกอบของ Post-consumer มากที่สุด จนมีการศึกษาแล้วพบว่ากว่า 50% ของหีบห่อที่ใช้กันในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกตเป็นกระดาษกล่องที่ผ่านรีไซเคิล

สะท้อนผู้บริโภคนิยมกรีนแพกเกจจิ้ง
-61% ของผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อสินค้าที่ใช้หีบห่อเป็นกล่องกระดาษรีไซเคิล
-77% ของผู้บริโภครู้สึกดีขึ้น หากผู้ประกอบการบอกว่าตนใช้หีบห่อกล่องกระดาษรีไซเคิล
-80% ของผู้บริโภค ภาคภูมิใจได้ทำความดีต่อสภาพแวดล้อม หากได้ซื้อสินค้าที่มีหีบห่อเป็นกล่องกระดาษรีไซเคิล
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการตระหนักแล้วว่า กิจการจะต้องปรับนโยบายด้านการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนการบริหารห่วงโซ่อุปทาน แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เพิ่มต้นทุนการดำเนินงานโดยรวม และเห็นด้วยกับการใช้หีบห่อจากรีไซเคิล
กำลังโหลดความคิดเห็น